ศิลปะการพูดในการสัมภาษณ์ อ่าน 412

ให้เป็นตัวของตัวเอง ถ้าคุณคิดว่าจะพยายามตอบให้ถูก ในคำถามที่ผู้สัมภาษณ์ถามคุณ คุณจะเครียดมาก และไม่เป็นตัวของตัวเอง การสัมภาษณ์จะไม่มีคำถามที่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด มีแต่คำถามที่ให้แสดงออก ถึงความเป็นคุณออกมา ถ้าคุณพยายามตอบให้ถูก ผู้สัมภาษณ์จะรู้และจะหมดความสนใจในตัวคุณ

 

ข้อแนะนำสำหรับการพูดในการสัมภาษณ์ มีดังนี้
1. น้ำเสียง
       - เสียงดังฟังชัด ไม่อู้อี้อยู่ในลำคอ แต่ไม่ดังจนเกินไป ความดังของเสียงอยู่ในระดับที่ได้ยินชัดว่าอะไร ก็เพียงพอแล้ว
       - ไม่ใช้เสียงเบาเกินไป บางคนพูดเหมือนกระซิบอยู่ตลอดต้องคอยเงี่ยหูฟัง มิฉะนั้นจะไม่ทราบว่าพูดอะไร
2. จังหวะในการพูด การพูดช้า อาจเป็นเพราะใช้เวลาในการคิดหาคำตอบ ถ้าเป็นกรณีนี้ การเตรียมตัวอย่างดีจะช่วยได้เพราะจะ ทำให้ตอบได้ทันที ดังนั้นจึงต้องศึกษาคำถามและเตรียมคำตอบไว้ก่อน
3. ระวังคำซ้ำคำเกิน เช่น เอ้อ อ้า แบบว่า ก็ แล้วก็ คำต่างๆ เหล่านี้ทำให้ผู้ฟังเบื่อรำคาญได้ ใครที่ติดคำจำพวกนี้ ต้องฝึกฝนด้วย การพยายามระวังตัว ไม่พูดคำเหล่านี้
4. คำแสลง ถือว่าเป็นคำไม่สุภาพแล้ว คำแสลงยังทำให้เกิดความไม่เข้าใจขึ้นได้ด้วย ขอให้พยายามระมัดระวังใน การใช้คำที่เป็นภาษาเฉพาะ รับรู้กันในหมู่วัยเดียวกัน
5. ไม่พูดมากเกินไป การพูดมากเกินไป อธิบายมาก แม้ในเรื่องควรตอบเพียงสั้น ๆ จึงทำให้เสียเวลา และอาจถูกมองว่า ถ้ารับเข้ามาทำงานคงจะเสียเวลาในการทำงาน ไปกับการพูดเสียมากกว่า
6. ไม่พูดน้อยเกินไป ถ้าพูดน้อยเกินไป ไม่พยายามให้ข้อมูล ไม่นำเสนอตัวเองให้เป็นที่รู้จัก ผู้สัมภาษณ์จะพิจารณาได้อย่างไรว่า เหมาะสมกับงานยิ่งถ้าเป็นงานที่จำเป็นต้องใช้ความสามารถในการพูดด้วยแล้ว ถ้าพูดน้อยโอกาสที่จะผ่าน การพิจารณาก็จะน้อยตามไปด้วย
7. อย่าโกหก ขนาดตอนสัมภาษณ์ ยังไม่เข้ามาทำงาน ยังหลอกกันแล้วจะมีใครไว้วางใจให้เข้ามาทำงานหรือบางคนโกหกเก่ง จึงอาจจะหลอกได้บ้าง แต่ต้องไม่ลืมว่าผู้สัมภาษณ์มีประสบการณ์มากกว่า โอกาสที่จะหลอกไม่สำเร็จ ถูกจับโกหก ได้จึงมีอยู่สูง
8. ประสบการณ์น้อย คุณควรบอกว่าคุณมีประสบการณ์ที่จำเป็นต่องานนี้โดยไม่ต้องผ่านงานประจำมาก่อนเช่น คุณเคยผ่านงานพิเศษสมัยเรียน เคยร่วมในกิจกรรมของมหาวิทยาลัยหรือองค์กร และถึงแม้ว่าประสบการณ์นั้นจะไม่สัมพันธ์กับงานที่ต้องการนี้เลยก็ตาม
9. เรียนอย่างเดียว ในกรณีที่คุณเอาแต่เรียนอย่างเดียว ไม่เคยร่วมกิจกรรมใดๆ เลย คุณก็มีหนทางเดียวที่จะแก้จุดด้วยนี้คือแสดงให้เห็นว่าการเรียนก็เป็นประสบการณ์การทำงานอย่างหนึ่ง เช่น คุณมีประสบการณ์ที่ต้องทำงานส่งให้ทันกำหนดเส้นตาย หรือคุณผ่านการทำรายงานชิ้นสำคัญๆ มาแล้วหลายชิ้น
10. ผลการเรียนต่ำ GPA ไม่ใช่เรื่องสำคัญ คุณควรอย่างยิ่งที่จะให้เหตุผลว่า ถึงเกรดของคุณไม่สูงแต่คุณก็มีประสบการณ์จากชีวิตจริง หรือเน้นย้ำว่าความสำเร็จของการศึกษาและในการทำงานต้องการสิ่งอื่นมากกว่าแค่เกรดสูงอย่างเดียว คุณมีประสบการณ์ในการทำกิจกรรมอื่นๆ มาชดเชย
11. ร่วมกิจกรรมน้อย ถ้าถูกถามว่าทำไมถึงไม่ค่อยร่วมกิจกรรมในมหาวิทยาลัยมากนัก คุณก็ควรบอกว่าต้องเรียนหนังสือหนักมาก และยังทำงานพิเศษไปด้วย จากนั้นก็รีบอ้างถึงประสบการณ์การทำงานต่างๆ ของคุณระหว่างเรียน
12. อายุน้อยเกินไป หากคุณสมัครงานในตำแหน่งสำคัญแต่ถูกติงว่าอายุยังน้อยเกินไป คุณควรอธิบายถึงประโยชน์ของการมีอายุน้อยว่า
         1. ยินดีทำงานเต็มที่แม้จะได้เงินเดือนน้อยกว่าผู้มีประสบการณ์
         2. มีไอเดียทันสมัยสมกับที่ได้ศึกษาความรู้ใหม่ล่าสุดจากมหาวิทยาลัย
         3.ไม่ต้องแก้ไขนิสัยการทำงานเก่าๆ ที่ไม่เหมาะกับงานใหม่
* บทความบางส่วนจากหนังสือ คู่มือสมัครงาน อ.ถาวร โชติชื่น สำนักพิมพ์ wisdom
คะแนน:
ร่วมแสดงความคิดเห็น (Post Comment)