สัมภาษณ์อย่างไรให้คว้าชัย อ่าน 4,269
เคยไหมที่...คุณค่อนข้างมั่นใจ ว่างานที่คุณเพิ่งไปสัมภาษณ์นั้นต้องได้ชัวร์ๆ หรือต้องเป็นตัวเก็งติดโผเข้ารอบแรกแหงๆ เคยไหมที่เพื่อนที่เกรดเฉลี่ยน้อยกว่าคุณตั้งเยอะ แต่กลับคว้างานที่คุณอยากทำไปครอง ถ้าคุณเริ่มเป็นอย่างที่ว่ามา นั่นอาจเป็นสาเหตุมาจากการเตรียมตัวไปสัมภาษณ์งานของคุณบกพร่อง แม้สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็มีผลต่อการพิจารณาว่าคุณจะเข้ารอบ หรือตกรอบกันแน่...ลองสำรวจดูว่า คุณได้เตรียมตัวเพื่อการสัมภาษณ์งานดีหรือยัง ตามข้อปฏิบัติดังนี้
- แต่งตัวให้เป็นมืออาชีพ การทำให้ผู้สัมภาษณ์เกิดความประทับใจ ต้องเริ่มจากการมีบุคลิกภาพที่ดีเสียก่อน ควรแต่งกายให้สุภาพ เป็นทางการ ใส่รองเท้าหุ้มข้อ จัดแต่งทรงผมให้เรียบร้อย รวมทั้งดูแลเรื่องความสะอาดตั้งแต่หัวจรดเท้าด้วย นอกจากจะเป็นการให้เกียรติผู้สัมภาษณ์แล้ว ยังทำให้คุณดูเป็นมืออาชีพอีกด้วย และอีกข้อควรระวังคือ ควรปิดโทรศัพท์มือถือระหว่างการสัมภาษณ์
- ตรงต่อเวลา คุณควรกะเวลาเดินทางให้ดี เผื่อเวลารถติดไว้ด้วย ควรศึกษาเส้นทางเสียก่อนถ้าคุณยังไม่ชำนาญ แนะนำว่าควรไปก่อนเวลานัดสัมภาษณ์อย่างน้อย 30 นาทีขึ้นไป เพื่อที่จะได้เตรียมตัว และทำความคุ้นเคยกับสถานที่ เพื่อไม่ให้ประหม่าจนเกินไป
- เตรียมเอกสารสมัครงานให้พร้อม เช่น รูปถ่าย สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ถ่ายสำเนาประวัติส่วนตัว (Resume) หลักฐานการศึกษาต่างๆ รวมทั้งผลงานที่ผ่านมาของคุณ ในกรณีคุณที่จำเป็นต้องแสดงผลงานให้ผู้สัมภาษณ์พิจารณาด้วย
- ตอบคำถามด้วยท่าทางที่ดูกระตือรือร้น มีชีวิตชีวา และอย่าพูดเร็วเกินไป ไม่ควรพูดสอดขึ้นมากลางคัน หลีกเลี่ยงการตอบคำถามสั้นๆ ด้วยคำว่า “ค่ะ/ครับ” แต่ควรแสดงความสนใจในคำถาม ด้วยการตอบให้เต็มประโยค และแสดงความคิดเห็นเท่าที่จำเป็น
- เตรียมคำถาม ส่วนใหญ่ผู้สัมภาษณ์มักเปิดโอกาสให้ถามในช่วงท้ายๆ ของการสัมภาษณ์ คุณควรเตรียมคำถามไปด้วย ซึ่งคำถามนี้อาจจะเกี่ยวกับลักษณะงานที่คุณสมัคร เพื่อช่วยคุณตัดสินใจ และเข้าใจงานที่คุณกำลังสัมภาษณ์นี้มากขึ้น
- ห้ามพาดพิง หรือพูดแสดงความคิดเห็นถึงเจ้านายเก่าในแง่ลบ เพราะจะเป็นการแสดงทัศนคติที่ไม่ดีของคุณต่อบุคคลอื่น เหมือนว่าเอาผู้อื่นมาวิจารณ์ในทางที่เสียหาย ถ้าคุณไม่ชอบใจเจ้านายเก่า ควรหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงเลยจะดีกว่า
- ไม่ควรแสดงความคิดเห็นในเรื่องต้องห้าม 3 อย่าง ได้แก่ ความเชื่อ การเมือง และศาสนา เพราะเป็นเรื่องของความเชื่อ ความชื่นชอบส่วนบุคคล ซึ่งผู้สัมภาษณ์อาจจะมีความเชื่อต่างจากคุณก็ได้
- ควบคุมอารมณ์ให้ดี ไม่ควรแสดงความรู้สึกในด้านลบของคุณออกมา เช่น อารมณ์โกรธ ประหม่า เสียใจ ฯลฯ ผู้สัมภาษณ์บางคนอาจจะอยากรู้ว่าคุณเป็นควบคุมอารมณ์ได้ดีหรือไม่ ด้วยการลองถามคำถาม หรือพูดเพื่อยั่วยุให้คุณโกรธ ซึ่งคุณก็ไม่ควรโต้ตอบด้วยอารมณ์
- อย่าลืมคำว่า “สวัสดี” และ “ขอบคุณ” เมื่อก้าวผ่านประตูห้องสัมภาษณ์ควรยกมือไหว้ และกล่าว “สวัสดีค่ะ/ครับ” ต่อผู้สัมภาษณ์ เพื่อแสดงความนอบน้อม และมารยาทที่ดี ไม่ว่าผู้สัมภาษณ์จะดูอ่อนวัย หรือตำแหน่งด้อยกว่าคุณก็ตาม และเมื่อสัมภาษณ์เสร็จก็ควรยกมือไหว้ และกล่าวคำว่า “ขอบคุณค่ะ/ครับ” ด้วย
ร่วมแสดงความคิดเห็น (Post Comment)