เมื่อไหร่คุณต้องขออนุญาต
เจ้าของอาคารหรือเจ้าของบ้าน ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยรู้ว่า เมื่อใดตนเองมีหน้าที่ต้องยื่นขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร มักจะคิดเข้าข้างตนเองว่า ไม่ต้องยื่นขออนุญาต เพราะกระทำการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ความจริง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร กำหนดไว้ชัดเจนว่า เมื่อใดต้องขออนุญาตหรือทำอย่างไรไม่ต้องขออนุญาต ซึ่งก่อนที่จะรู้ในเรื่องนี้ดีต้องทำความเข้าใจความหมายของคำบางคำเสียก่อนคือ
"ก่อสร้าง" หมายความว่า สร้างอาคารขึ้นใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างขึ้นแทนของเดิมหรือไม่
"ดัดแปลง" หมายความว่า เปลี่ยนแปลงต่อเติม เพิ่มลด หรือขยายซึ่งลักษณะ แบบรูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ของโครงสร้างของอาคารหรือส่วนต่าง ๆ ของอาคาร ซึ่งได้ก่อสร้างไว้แล้วให้ผิดไปจากเดิม และมิใช่การซ่อมแซม และให้รวมถึง
( ก ) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอาคารที่เป็นคอนกรีต คอนกรีตอัดแรงและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ
( ข ) การเปลี่ยนแปลงส่วนต่าง ๆ ของอาคารแล้วจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละสิบ
( ค ) การลดหรือขยายพื้นที่ชั้นหนึ่งชั้นใด หรือหลังคาให้มีพื้นที่มากขึ้นเกิน 5 ตร.ม. โดยไม่ลดหรือเพิ่มจำนวนเสาหรือคาน"รื้อถอน" หมายความว่า รื้อส่วนอันเป็นโครงสร้างของอาคารออกไป เช่น เสา คาน ตง และให้รวมถึง
( ก ) รื้อกันสาดหรือคอนกรีตเสริมเหล็ก
( ข ) รื้อฝาหรือผนัง ที่เป็นโครงสร้างของอาคาร หรือฝาหรือผนังที่เป็นคอนกรีต
( ค ) รื้อบันไดคอนกรีตเสริมเหล็ก
( ง ) รื้อพื้นที่คอนกรีตเสริมเหล็กตั้งแต่ชั้นสองของอาคารขึ้นไปจากคำจำกัดความเบื้องต้น ถ้าท่านกระทำการใด ๆ ที่เข้าลักษณะดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ท่านต้องไปยื่นเรื่องราวต่อ "เจ้าพนักงานท้องถิ่น" เพื่อแสดงเจตจำนงว่าจะกระทำการนั้น ๆ คำถามที่ตามมาคือว่าต้องยื่นเรื่องกับใคร ใครคืดเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ตาม 2522 กำหนดไว้ดังนี้
เจ้าพนักงานท้องถิ่น หมายความว่า
( 1 ) นายกเทศมนตรี สำหรับในเขตเทศบาล
( 2 ) ประธานกรรมการ สุขาภิบาล สำหรับในเขตสุขาภิบาล
( 3 ) ผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด
( 4 ) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร
( 5 ) ปลัดเมืองพัทยา สำหรับในเขตเมืองพัทยา
( 6 ) หัวหน้าผู้บริหารท้องถิ่นขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นกล่าวโดยสรุปคือ เมื่อท่านต้องการจะกระทำการใด ๆที่เขัาข่ายก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ตามความหมายข้างต้นท่านต้องไปตรวจสอบดูว่า พื้นที่ ๆ จะก่อสร้างนั้น ๆ อยู่ในเขตเทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร พัทยา หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือเปล่า ถ้าใช่ก็นำเรื่องไปยื่นขอต่อ นายกเทศมนตรี ประธานกรรมการสุขาภิบาล ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปลัดเมืองพัทยา หรือหัวหน้าผู้บริหารท้องถิ่นขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วแต่กรณี เจ้าพนักงานท้องถิ่นก็จะพิจารณาเรื่องราวของท่านตามกฎระเบียบต่อไป
เพื่อให้เข้าใจกันง่าย ๆ สมมุตินางสมศรีสร้างบ้านเรือนอยู่ในเขตเทศบาลแห่งหนึ่ง ต้องการจะต่อห้องนอนออกไปอีก 1 ห้อง กว้าง 3 ม. ยาว 3 ม. ต้องยื่นขออนุญาตหรือไม่ คำตอบ คือ ต้องยื่นขออนุญาต เพราะถึงแม้นางสมศรีจะมีบ้านอยู่แล้ว แต่จะต่อเติมอีก 9 ตร.ม. ( กว้าง 3 ม. ยาว 3 ม. ) ซึ่งถือว่าเป็นการดัดแปลงอาคารก็ต้องยื่นเรื่องราวขออนุญาตต่อนายยกเทศมนตรีในเขตพื้นที่นั้น ๆ
ตัวอย่างอีกกรณี นายสมชาย มีบ้านเป็นตึกแถว อยู่ในเขตสุขาภิบาล ต้องการจะทุบกันสาดทิ้ง เพื่อเหตุผลบางประการ ก็ต้องยื่นเรื่องราวขออนุญาตต่อประธานกรรมการสุขาภิบาล เพราะการทุบกันสาดทิ้งเป็นการรื้อถอนอาคารตามความหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้นด้วย