กฎกระทรวง พ.ศ. ๒๕๐๘(ฉบับ 3) พ.ศ. ๒๕๑๒ อ่าน 5,329

กฎกระทรวง

ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๐๘)

ออกตามความในพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕

อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา ๕ และ มาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ให้กำหนดวิชาชีพวิศวกรรมในสาขา แขนง และขนาด ดังต่อไปนี้ เป็นวิชาขีพวิศวกรรมควบคุม

สาขา ๑ วิศวกรรมโยธา

๑. งานออกแบบและคำนวณ หมายถึง การใช้ความรู้ในสาขาวิศวกรรมโยธา เพื่อให้ได้มาซึ่งรายละเอียดในการก่อสร้างโดยแสดงเป็นแบบรูป ข้อกำหนด และประมาณการ

๒. งานควบคุมการก่อสร้าง หมายถึง การอำนวยการควบคุมดูแลการก่อสร้างในสาขาวิศวกรรมโยธา ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามหลักวิชาการ แบบรูป และข้อกำหนด

๓. งานพิจารณาตรวจสอบ หมายถึง การค้นคว้า การวิเคราะห์ การทดสอบ การหาข้อมูลและสถิติต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ประกอบการตรวจสอบวินิจฉัยงานในสาขาวิศวกรรมโยธา

๔. งานวางโครงการก่อสร้าง หมายถึง การวางแผนผังหรือการวางแผนงานการก่อสร้างในสาขาวิศวกรรมโยธา

๕. งานให้คำปรึกษา หมายถึง การให้ข้อแนะนำและหรือการตรวจสอบที่เกี่ยวกับงานใน สาขาวิศวกรรมโยธา ตาม ๑. ๒. ๓. และ ๔.

งานในสาขาวิศวกรรมโยธาดังกล่าวข้างต้นนี้ ต้องมีลักษณะ ขนาด หรืออยู่ในประเภทดังต่อไปนี้

(๑) อาคารตั้งแต่สามชั้นขึ้นไปที่ก่อสร้างห่างจากทางสาธารณะไม่เกินสิบสี่เมตร

(๒) โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรตั้งแต่ห้าสิบแรงม้าเพลาขึ้นไป

(๓) อาคารถาวรที่ใช้เป็นอาคารสาธารณะหรือเป็นที่อยู่อาศัยของบุคคลจำนวนมาก เช่น โรงมหรสพ โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม ภัตตาคาร หอประชุม หอสมุด อาคารแบบแฟลท หรืออาคารอย่างอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

(๔) สะพานที่มีช่วงระหว่างศูนย์กลางตอม่อช่วงใดช่วงหนึ่งยาวตั้งแต่สิบเมตรขึ้นไป

(๕) ท่าสำหรับเทียบเรือที่มีระวางขับน้ำตั้งแต่หนึ่งร้อยตันขึ้นไป

(๖) อู่เรือหรือคานเรือ สำหรับเรือที่มีระวางขับน้ำตั้งแต่ห้าสิบตันขึ้นไป

(๗) เขื่อนกั้นน้ำที่ต้องรับความดันของน้ำหลังเขื่อนที่มีความลึกตั้งแต่สองเมตรขึ้นไป

(๘) กำแพงกันดินที่ต้องรับความดันของดินหลังกำแพงที่มีความสูงตั้งแต่สองเมตรขึ้นไป

(๙) โครงสร้างสำหรับรองรับถังน้ำ ถังน้ำมัน หรือสำหรับใช้ในการรับส่งวิทยุ หรือโทรทัศน์ หรือใช้ในการอื่นใดที่มีความสูงจากระดับฐานตั้งแต่สิบเมตรขึ้นไป เว้นแต่โครงสร้างชั่วคราวที่ใช้กับกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง

(๑๐) ปล่องไฟหรือเสาที่ปลูกสร้างหรือปักไว้ และมีความสูงจากระดับฐานตั้งแต่สิบเมตรขึ้นไป เว้นแต่ปล่องไฟหรือเสาที่ปลูกสร้างหรือปักไว้ชั่วคราว

(๑๑) ถังเก็บของไหล เช่นก๊าซ น้ำ น้ำมัน ที่มีความจุตั้งแต่หนึ่งร้อยลูกบาศก์เมตรขึ้นไป

(๑๒) ทางรถไฟ หรือทางรถราง ซึ่งมีความยาวตั้งแต่สิบกิโลเมตรขึ้นไป

(๑๓) ทางประเภททางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงจังหวัด ทางหลวงเทศบาล และทางหลวงสัมปทาน ตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง

(๑๔) สนามบิน ทางวิ่ง หรือลานจอดเครื่องบิน

(๑๕) อุโมงค์สาธารณะ

(๑๖) สระว่ายน้ำสาธารณะ

(๑๗) งานผลิตน้ำประปาสำหรับประชาชนที่มีปริมาณการผลิต ตั้งแต่หนึ่งพันลูกบาศก์เมตรต่อวันขึ้นไป

สาขา ๒ วิศวกรรมเครื่องกล

๑. งานออกแบบและคำนวณ หมายถึง การใช้ความรู้ในสาขาวิศวกรรมเครื่องกล เพื่อให้ได้มาซึ่งรายละเอียดในการสร้าง โดยแสดงเป็นแบบรูป ข้อกำหนด และประมาณการ ดังต่อไปนี้

(๑) เครื่องกลจักรที่ให้กำเนิดพลังหรือเครื่องกลที่ใช้พลัง ขนาดเครื่องละตั้งแต่สิบแรงม้าเพลาขึ้นไป

(๒) เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่นทุกขนาด

(๓) หม้ออัดอากาศหรือหม้ออัดก๊าซทุกขนาด

(๔) เครื่องปรับภาวะอากาศสำหรับทำความเย็นทุกขนาดและทุกชนิด

๒. งานควบคุมการสร้าง หมายถึง การอำนวยการควบคุมดูแลการสร้างในสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ดังต่อไปนี้

(๑) เครื่องกลจักรที่ให้กำเนิดพลังหรือเครื่องกลที่ใช้พลัง ขนาดเครื่องละตั้งแต่สามสิบแรงม้าเพลาขึ้นไป

(๒) เครื่องกำเนิดไอน้ำหรืออย่างอื่น ขนาดที่มีความดันตั้งแต่ห้ากิโลกรัมต่อหนึ่งตารางเซนติเมตรขึ้นไป หรือขนาดที่มีอัตราการผลิตไอน้ำหรือย่างอื่นเครื่องละตั้งแต่ห้าร้อยกิโลกรัมต่อหนึ่งชั่วโมงขึ้นไป

(๓) หม้ออัดอากาศหรือหม้ออัดก๊าซ ขนาดที่มีความดันตั้งแต่ห้ากิโลกรัมต่อหนึ่งตารางเซนติเมตรขึ้นไป

(๔) เครื่องปรับภาวะอากาศสำหรับทำความเย็นขนาดเครื่องละตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป

๓. งานอำนวยการควบคุมการประกอบบรรดาสิ่งดังกล่าวใน ๒. ในโรงงานที่ใช้ลูกจ้างตั้งแต่สิบคนขึ้นไป

๔. งานพิจารณาตรวจสอบ หมายถึง การค้นคว้า การวิเคราะห์ การทดสอบ การหาข้อมูลและสถิติต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ประกอบการตรวจสอบวินิจฉัยงานในสาขาวิศวกรรมเครื่องกล

๕. งานวางโครงการ หมายถึง การวางแผนผังหรือการวางแผนงานการสร้างหรือการประกอบสิ่งใด ๆ ในสาขาวิศวกรรมเครื่องกล สำหรับโครงการที่มีวงเงินตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป

๖. งานอำนวยการติดตั้ง

(๑) เครื่องกลจักรที่ให้กำเนิดพลังขนาดเครื่องละตั้งแต่ห้าร้อยแรงม้าเพลาขึ้นไป หรือเครื่องกลที่ใช้พลังขนาดเครื่องละตั้งแต่สี่ร้อยแรงม้าเพลาขึ้นไป

(๒) เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่น ขนาดที่มีความดันตั้งแต่เจ็ดกิโลกรัมต่อหนึ่งตารางเซนติเมตรขึ้นไป หรือขนาดที่มีอัตราการผลิตไอน้ำหรือไออย่างอื่นเครื่องละตั้งแต่หนึ่งพันกกิโลกรัมต่อหนึ่งชั่วโมงขึ้นไป

(๓) หม้ออัดอากาศหรือหม้ออัดก๊าซ ขนาดที่มีความดันตั้งแต่สิบสามกิโลกรัมต่อหนึ่งตารางเซนติเมตรขึ้นไป

(๔) เครื่องปรับภาวะอากาศสำหรับทำความเย็นขนาดเครื่องละตั้งแต่ยี่สิบตันขึ้นไป

๗. งานอำนวยการซ่อม

(๑) เครื่องกลจักรที่ให้กำเนิดพลังขนาดเครื่องละตั้งแต่ห้าร้อยแรงม้าเพลาขึ้นไป หรือเครื่องกลที่ใช้พลังขนาดเครื่องละตั้งแต่สี่ร้อยแรงม้าเพลาขึ้นไป

(๒) เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่น ขนาดที่มีความดันตั้งแต่เจ็ดกิโลกรัมต่อหนึ่งตารางเซนติเมตรขึ้นไป หรือขนาดที่มีอัตราการผลิตไอน้ำหรือไออย่างอื่นเครื่องละตั้งแต่หนึ่งพันกิโลกรัมต่อหนึ่งชั่วโมงขึ้นไป

(๓) หม้ออัดอากาศหรือหม้ออัดก๊าซ ขนาดที่มีความดันตั้งแต่สิบสามกิโลกรัมต่อหนึ่งตารางเซนติเมตรขึ้นไป

(๔) เครื่องปรับภาวะอากาศสำหรับทำความเย็นขนาดเครื่องละตั้งแต่ยี่สิบตันขึ้นไป

๘. งานอำนวยการใช้

(๑) เครื่องจักรที่ให้กำเนิดพลังหรือเครื่องกลที่ใช้พลังขนาดเครื่องละตั้งแต่พันแรงม้าเพลาขึ้นไป

(๒) เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่น ขนาดที่มีอัตราการผลิตไอน้ำหรือไออย่างอื่นเครื่องละตั้งแต่สองหมื่นกิโลกรัมต่อหนึ่งชั่วโมงขึ้นไป

(๓) หม้ออัดอากาศหรือหม้ออัดก๊าซ ขนาดที่มีความดันตั้งแต่สิบสามกิโลกรัมต่อหนึ่งตารางเซนติเมตรขึ้นไป เฉพาะที่มีปริมาตรใบละตั้งแต่สิบลูกบาศก์เมตรขึ้นไป

๙. งานให้คำปรึกษา หมายถึง การให้ข้อแนะนำและหรือการตรวจสอบที่เกี่ยวกับงานในสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ตาม ๑. ๒. ๓. ๔. ๕. ๖. ๗. หรือ ๘.

สาขา ๓ วิศวกรรมไฟฟ้า

(ก) แขนงไฟฟ้ากำลัง

๑. งานออกแบบและคำนวณอุปกรณ์ไฟฟ้ากำลังขนาดการผลิตหรือการใช้รวมกันตั้งแต่หนึ่งพันกิโลวัตต์ขึ้นไป หรือขนาดที่มีแรงดันสูงสุดระหว่างสายในระบบตั้งแต่หนึ่งพันสองโวลตขึ้นไป

๒. งานควบคุมการสร้าง หมายถึง การอำนวยการควบคุมดูแลการสร้างระบบผลิต ระบบส่ง ระบบจ่าย หรือระบบใช้ไฟฟ้ากำลัง ตั้งแต่หนึ่งพันกิโลวัตต์ขึ้นไป หรือขนาดที่มีแรงดันสูงสุดระหว่างสายในระบบตั้งแต่หนึ่งพันสองร้อยโวลต์ขึ้นไป

๓. งานพิจารณาตรวจสอบ หมายถึง การค้นคว้า การวิเคราะห์ การทดสอบหรือการหาข้อมูลและสถิติต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ประกอบการตรวจวินิจฉัยงานเกี่ยวกับการผลิต การส่ง การจ่าย หรือการใช้ไฟฟ้ากำลัง ตั้งแต่หนึ่งพันกิโลวัตต์ขึ้นไป หรือขนาดที่มีแรงดันสูงสุดระหว่างสายในระบบตั้งแต่หนึ่งพันสองร้อยโวลต์ขึ้นไป

๔. งานวางโครงการ หมายถึง การวางแผนผังหรือการวางงานการสร้างสิ่งใดๆ ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าแขนงไฟฟ้ากำลัง สำหรับโครงการที่มีวงเงินตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป

๕. งานอำนวยการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้ากำลังขนาดการผลิตหรือการใช้รวมกันตั้งแต่หนึ่งพันกิโลวัตต์ขึ้นไป หรือขนาดที่แรงดันสูงสุดระหว่างสายในระบบตั้งแต่หนึ่งพันสองร้อยโวลต์ขึ้นไป

๖. งานอำนวยการซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้ากำลังขนาดที่มีแรงดันสูงสุดระหว่างสายในระบบตั้งแต่หกร้อยโวลต์ขึ้นไป

๗. งานอำนวยการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้ากำลังขนาดที่มีแรงดันสูงสุดระหว่างสายในระบบชนิดยกเดียวตั้งแต่หกร้อยโวลต์ขึ้นไป หรือขนาดที่มีแรงดันสูงสุดระหว่างสายในระบบชนิดหลายยกตั้งแต่หนึ่งพันสองร้อยโวลต์ขึ้นไป หรือขนาดการผลิต การส่ง การจ่าย หรือการใช้ไฟฟ้ากำลังเพื่อสาธารณูปโภคทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตั้งแต่สองร้อยกิโลวัตต์ขึ้นไป หรือขนาดการผลิตหรือการใช้ไฟฟ้ากำลังเพื่องานอย่างอื่น ตั้งแต่หนึ่งพันกิโลวัตต์ขึ้นไป

๘. งานให้คำปรึกษาหมายถึง การใหข้อแนะนำและหรือการตรวจสอบที่เกี่ยวกับงานในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าแขนงไฟฟ้ากำลัง ตาม ๑. ๒. ๓. ๔. ๕. ๖ หรือ ๗.

(ข) แขนงไฟฟ้าสื่อสาร

๑. งานออกแบบและคำนวณอุปกรณ์ไฟฟ้าสื่อสาร ขนาดเครื่องกระจายคลื่นตั้งแต่หนึ่งพันวัตต์ขึ้นไป

๒. งานควบคุมการสร้าง หมายถึง การอำนวยการควบคุมดูแลการสร้างเครื่องส่งวิทยุหรือเครื่องส่งโทรทัศน์ ขนาดกระจายคลื่นตั้งแต่หนึ่งพันวัตต์ขึ้นไป

๓. งานอำนวยการควบคุมการประกอบบรรดาสิ่งดังกล่าวใน ๒

๔. งานพิจารณาตรวจสอบ หมายถึง การค้นคว้า การวิเคราะห์ การทดสอบ หรือการหาข้อมูลและสถิติต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ประกอบการตรวจสอบวินิจฉัยงานในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าแขนงไฟฟ้าสื่อสาร

๕. งานวางโครงการ หมายถึง การวางแผนผังหรือการวางแผนงานการสร้างหรือการประกอบสิ่งใด ๆ ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าแขนงไฟฟ้าสื่อสาร สำหรับโครงการที่มีวงเงินตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป

๖. งานอำนวยการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าสื่อสารขนาดเครื่องกระจายคลื่นตั้งแต่หนึ่งพันวัตต์ขึ้นไป

๗. งานอำนวยการซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าสื่อสารขนาดเครื่องกระจายคลื่นตั้งแต่หนึ่งพันวัตต์ขึ้นไป

๘. งานอำนวยการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าสื่อสารขนาดเครื่องกระจายคลื่นตั้งแต่หนึ่งพันวัตต์ขึ้นไป

๙. งานให้คำปรึกษา หมายถึง การให้ข้อแนะนำและหรือการตรวจสอบที่เกี่ยวกับงานในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าแขนงไฟฟ้าสื่อสาร ตาม ๑. ๒. ๓. ๔. ๕. ๖. ๗. หรือ ๘.

สาขา ๔ วิศวกรรมอุตสาหการ

๑. งานออกแบบและคำนวณงานอุตสาหกรรมของโรงงานที่ใช้ลูกจ้างตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไป หรือของโรงงานขนาดที่ต้องลงทุนตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป

๒. งานควบคุมการสร้าง หมายถึง การอำนวยการควบคุมดูแลการสร้างในสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามหลักวิชาการ แบบรูป และข้อกำหนด สำหรับงานอุตสาหกรรมของโรงงานที่ใช้ลูกจ้างตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไปหรือของโรงงานขนาดที่ต้องลงทุนตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป

๓. งานพิจารณาตรวจสอบ หมายถึง การค้นคว้า การวิคราะห์ การทดสอบ หรือการหาข้อมูลและสถิติต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ประกอบการตรวจสอบวินิจฉัยงานในสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ

๔. งานวางโครงการ หมายถึง การวางแผนผังหรือการวางแผนงานการสร้างหรือการประกอบสิ่งใดๆ ในสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ สำหรับโครงการที่มีวงเงินตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป

๕. งานควบคุมการผลิตวัสดุสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูป งานหลอมโลหะ งานหล่อโลหะ งานรีดโลหะ งานเคลือบโลหะ หรืองานอบชุบ งานชุบ หรืองานแปรรูปโลหะ ไม้ หรือวัสดุอื่น ๆ สำหรับงานอุตสาหกรรมของโรงงานที่ใช้ลูกจ้างตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไป หรือของโรงงานขนาดที่ต้องลงทุนตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป

๖. งานควบคุมการถลุงแร่และงานทำโลหะให้บริสุทธิ์ที่มีปริมาณการผลิต ดังต่อไปนี้

ดีบุก ตั้งแต่วันละสองตันขึ้นไป

ตะกั่ว สังกะสี ทองแดง หรือพลวง ตั้งแต่วันละห้าตันขึ้นไป

เหล็ก หรือเหล็กกล้า ตั้งแต่วันละสิบตันขึ้นไป

๗. งานให้คำปรึกษา หมายถึง การให้ข้อแนะนำและหรือการตรวจสอบที่เกี่ยวกับงานในสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ ตาม ๑. ๒. ๓. ๔. ๕. หรือ ๖.

สาขา ๕ วิศวกรรมเหมืองแร่

๑. งานออกแบบและคำนวณ หมายถึง การใช้ความรู้ในสาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ เพื่อให้ได้มาซึ่งรายละเอียด โดยแสดงเป็นแบบรูป ข้อกำหนด และประมาณการ ดังต่อไปนี้

(๑) งานทำเหมืองแร่ในแหล่งแร่ชนิดลานแร่ที่ใช้พลังงานรวมกันตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบแรงม้าเพลาขึ้นไป หรือที่ใช้ลูกจ้างตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไป

(๒) งานทำเหมืองแร่ในแหล่งแร่ชนิดอื่นซึ่งมิใช่ลานแร่ที่มีปริมาณการผลิตสินแร่ตั้งแต่วันละยี่สิบห้าตันขึ้นไป

(๓) งานทำเหมืองหินที่มีปริมาณการผลิตตั้งแต่วันละห้าสิบตันขึ้นไป

(๔) งานเจาะอุโมงค์หรือปล่อง ที่มีพื้นที่หน้าตัดตั้งแต่สามตารางเมตรขึ้นไป เพื่อกิจการเหมืองแร่

(๕) งานแต่งแร่ ที่ใช้สินแร่จากแหล่งแร่ชนิดอื่นที่มิใช่ลานแร่ตั้งแต่วันละยี่สิบห้าตันขึ้นไป

(๖) งานถลุงแร่ดีบุกและงานทำดีบุกให้บริสุทธิ์ที่มีปริมาณการผลิตตั้งแต่วันละสองตันขึ้นไป

(๗) งานถลุงแร่ตะกั่ว แร่สังกะสี แร่ทองแดง หรือแร่พลวง และงานทำโลหะดังกล่าวให้บริสุทธิ์ ที่มีปริมาณการผลิตตั้งแต่วันละห้าตันขึ้นไป

(๘) งานถลุงแร่เหล็กหรืองานผลิตเหล็กล้า ที่มีปริมาณการผลิตตั้งแต่วันละสิบตันขึ้นไป

(๙) งานหลอม งานหล่อ งานรีด งานเคลือบ หรืองานชุบโลหะ สำรหับงานที่ใช้ลูกจ้างตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไป หรืองานขนาดที่ต้องลงทุนตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป

(๑๐) เครื่องกลหรืออุปกรณ์ที่ใช้ทำงานเกี่ยวกับสินแร่หรือหินได้ตั้งแต่วันละสิบตันขึ้นไป

๒. งานควบคุมการสร้าง หมายถึง การอำนวยการควบคุมดูแลการสร้างในสาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามหลักวิชาการ แบบรูป และข้อกำหนด สำรหับงานที่ระบุไว้ใน ๑ (๑) ถึง (๑๐)

๓. งานพิจารณาตรวจสอบ หมายถึง การค้นคว้า การวิเคราะห์ การทดสอบ การหาข้อมูลและสถิติต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ประกอบการตรวจสอบวินิจฉัยงานในสาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ สำหรับงานที่ระบุไว้ใน ๑ (๑) ถึง (๑๐)

๔. งานวางโครงการ หมายถึง การวางแผนผังหรือการวางแผนงานในสาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ สำหรับงานที่ระบุไว้ใน ๑ (๑) ถึง (๙)

๕. งานดำเนินการ หมายถึง การรับผิดชอบในการดำเนินงานในสาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ สำหรับงานที่ระบุไว้ใน ๑ (๑) ถึง (๙)

๖. งานให้คำปรึกษา หมายถึง การให้ข้อแนะนำและหรือการตรวจสอบที่เกี่ยวกับงานในสาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ ตาม ๑. ๒. ๓. ๔. หรือ ๕.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๘

พลเอก ป. จารุเสถียร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

(๘๒ ร.จ. ๑๑๐๑ ตอนที่ ๙๖ ลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๐๘)

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศให้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้ประกาศและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๐๕ เป็นต้นมา ความมุ่งหมายของพระราชบัญญัตินี้ก็เพื่อที่จะควบคุมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมและกำหนดมาตรฐานความรู้ความสามารถตลอดจนความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมให้อยู่ในมาตรฐานอันดี ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สมบัติ จึงจำเป็นที่จะต้องออกกฎกระทรวงวางหลักเกณฑ์ว่า วิชาชีพวิศวกรรมสาขาใด แขนงใด หรือขนาดใด ควรที่จะกำหนดให้เป็นวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม เพื่อปฎิบัติให้เป็นไปตามความใน มาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕

คะแนน:
ร่วมแสดงความคิดเห็น (Post Comment)