พระราชบัญญัติ
วิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๐
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๐
เป็นปีที่ ๓๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรม
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาปฎิรูปการปกครองแผ่นดิน ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญํตินี้เรียกว่า “ พระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๐ ”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความใน มาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ มาตรา ๗ ให้มีกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เรียกว่า “ คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม ” เรียกโดยย่อว่า “ ก.ว. ” ประกอบด้วยปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานและกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจาก
(๑) วุฒิวิศวกรซึ่งเป็นข้าราชการในกระทรวงทบวงกรมจำนวนสองคน
(๒) วุฒิวิศวกรซึ่งเป็นข้าราชการในมหาวิทยาลัยในตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำ จำนวนสองคน
(๓) วุฒิวิศวกรในสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมเหมืองแร่ และในสาขาวิศวกรรมอื่นซึ่ง จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาสาขาละสองคน โดยคนหนึ่งในแต่ละ สาขานั้นจะแต่งตั้งจากวุฒิวิศวกรซึ่งสมาคมวิชาชีพวิศวกรรมที่ ก.ว. รับ รองเสนอมาก็ได้
ให้ ก.ว. เลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นรองประธาน มีหน้าที่ช่วยประธานตามที่ประธานมอบหมาย และเป็นผู้ทำการแทนประธานในเมื่อประธานไม่อยู่หรือไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้
กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และอาจแต่งตั้งซ้ำอีกได้แต่ไม่เกินกว่าสองครั้งติด ๆ กัน ”
มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความใน มาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ มาตรา ๘ กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ครบวาระ
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) ถูกพักหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตเปฌนผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
(๕) ขาดจากการเป็นข้าราชการสำหรับกรรมการตาม มาตรา ๗ (๑)
(๖) ขาดจากการเป็นข้าราชการหรือขาดจากการเป็นศาสตราจารย์ประจำในมหาวิทยาลัย สำหรับกรรมการตาม มาตรา ๗ (๒)
เมื่อกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งผู้อื่นในจำพวกเดียวกันเป็นกรรมการแทน
กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งตามวรรคสอง อยู่ในตำแหน่งตามวาระของกรรมการที่ตนแทน ”
มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๓) ของ มาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕
“ (๓) มติยกเว้นคุณสมบัติตาม มาตรา ๑๘ (๓) ”
มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความใน มาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ มาตรา ๑๓ ให้ ก.ว. มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลซึ่งมีสิทธิ และสมควรเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
(๒) สั่งพักใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
(๓) ออกข้อบังคับวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการทดสอบความรู้การขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต แบบใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การไต่สวน การสั่งพักใบอนุญาต หรือการเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
(๔) ออกข้อบังคับวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเทียบปริญญา หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพการช่าง เป็นคุณวุฒิในวิชาชีพวิศวกรรม
(๕) ออกข้อบังคับวางหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม
(๖) ให้คำปรึกษา และคำแนะนำแก่มหาวิทยาลัย หรือสถานศึกษาอื่นในการศึกษาวิชาในสาขาต่าง ๆ ของวิศวกรรมศาสตร์ ”
มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความใน มาตรา ๑๔ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ มาตรา ๑๔ ทวิ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบใบอนุญาตหรือการปฏิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม และเพื่อการนี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใดมาชี้แจงข้อเท็จจริง รวมทั้งให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานได้
(๒) เข้าไปในสถานที่ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือมีเหตุผลพอเชื่อได้ว่าได้ใช้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือผู้ครอบครองสถานที่นั้น ต้องอำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามสมควร
ในการปฎิบัติการตามหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม (๑) หรือ (๒) ถ้าปรากฎว่าผู้ใดประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับใบอนุญาตแต่ปฎิบัติไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎกระทรวงออกตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดหรือรวบรวมเอกสารหรือหลักฐานอย่างอื่นเท่าที่จำเป็น เพื่อดำเนินการต่อไปตามควรแก่กรณี
ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในส่วนที่เกี่ยวกับการค้นมาใช้บังคับแก่การยึดหรือการรวบรวมเอกสารหรือหลักฐานตามวรรคสองโดยอนุโลม ”
มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความใน มาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ มาตรา ๑๗ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมจะต้องมีคุณสมบัติตาม มาตรา ๑๘ และต้องมีคุณวุฒิในวิชาชีพวิศวกรรมตาม มาตรา ๑๙ หรือผ่านการทดสอบความรู้ตาม มาตรา ๑๙ ทวิ แล้วแต่กรณี ”
มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความใน (๓) ของ มาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้
“ (๓) ไม่เคยต้องโทษจำคุกในคดีที่ ก.ว. เห็นว่าอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ เว้นแต่ได้พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีนับแต่วันพ้นโทษ และ ก.ว. เห็นสมควรยกเว้นให้ ”
มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความใน มาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ มาตรา ๑๙ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมจะต้องมีคุณวุฒิในวิชาชีพวิศวกรรม ดังต่อไปนี้
(๑) สำหรับภาคีวิศวกรจะต้องมีปริญญาในสาขาที่ขอรับใบอนุญาตตามหลักสูตรการศึกษาและจากสถานศึกษาที่ ก.ว. รับรอง หรือมีประกาศนียบัตรที่ ก.ว. เทียบได้ไม่ต่ำกว่าปริญญาในสาขาที่ขอรับใบอนุญาต หรือมีปริญญา หรือประกาศนียบัตรที่ ก.ว. เทียบตามข้อบังคับออกตาม มาตรา ๑๓ (๔)
(๒) สำหรับสามัญวิศวกรจะต้องเป็นภาคีวิศวกรซึ่งได้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือวิชาชีพตามมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมตามข้อบังคับออกตาม มาตรา ๑๓ (๕) ในสาขาที่ได้รับใบอนุญาตในฐานะภาคีวิศวกรมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปี
ระยะเวลาสามปีใน (๒) ให้เปลี่ยนเป็นสองปีสำหรับภาคีวิศวกรที่ผ่านการทดสอบความรู้จาก ก.ว.
(๓) สำหรับวุฒิวิศวกรจะต้องเป็นสามัญวิศวกรซึ่งได้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือวิชาชีพตามมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมตามข้อบังคับออกตาม มาตรา ๑๓ (๕) ในสาขาที่ได้รับอนุญาตในฐานะสามัญวิศวกรมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเจ็ดปี
ระยะเวลาเจ็ดปีใน (๓) ให้เปลี่ยนเป็นห้าปีสำหรับสามัญวิศวกรที่ผ่านการทดสอบความรู้จาก ก.ว.
ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมโดยได้รับเทียบปริญญาหรือประกาศนียบัตรตามข้อบังคับออกตาม มาตรา ๑๓ (๔) เมื่อขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมประเภทสามัญวิศวกรหรือวุฒิวิศวกรต้องผ่านการทดสอบจาก ก.ว. ”
มาตรา ๑๑ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๙ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕
“ มาตรา ๑๙ ทวิ นอกจากผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมประเภทต่าง ๆ ตาม มาตรา ๑๖ ก.ว. อาจออกใบอนุญาตพิเศษให้ผู้ที่มีคุณสมบัติเป็นผู้ขอรับใบอนญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตาม มาตรา ๑๘ ซึ่งผ่านการทดสอบความรู้จาก ก.ว. และ ก.ว. พิจารณาเห็นว่าอาจประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามขนาดที่เหมาะสมในสาขาหนึ่งสาขาใดหรือหลายสาขาก็ได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ขอรับใบอนุญาตนั้นจะมีคุณวุฒิในวิชาชีพวิศวกรรมตาม มาตรา ๑๙ หรือไม่ก็ตาม
ให้ถือว่าผู้ได้รับใบอนุญาตพิเศษตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตและให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติใน หมวด ๑ หมวด ๓ หมวด ๔ และ หมวด ๕ ตามพระราชบัญญัตินี้ ”
มาตรา ๑๒ ให้ยกเลิกความใน มาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ มาตรา ๒๐ การขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตาม มาตรา ๑๖ และการขอรับใบอนุญาตพิเศษตาม มาตรา ๑๙ ทวิ ทั้งนี้ ไม่ว่าในวิชาชีพวิศวกรรมสาขาใดหรือหลายสาขา ให้เป็นไปตามข้อบังคับของ ก.ว. ”
มาตรา ๑๓ ให้ยกเลิกความใน มาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ มาตรา ๒๑ เมื่อได้รับคำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมประภทภาคีวิศวกรหรือคำขอรับใบอนุญาตพิเศษตาม มาตรา ๒๐ ให้เลขานุการ ก.ว. ประกาศชื่อ ที่อยู่ และคุณวุฒิของผู้ขอรับใบอนุญาตพร้อมทั้งรายละเอียดอื่น เพื่อการนี้ไว้ ณ สำนักงาน ก.ว. เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวันเพื่อให้โอกาสบุคคลอื่นยื่นคำคัดค้าน
เมื่อได้ประกาศครบกำหนดแล้ว ให้เลขานุการ ก.ว. เสนอคำขอรับใบอนุญาตต่อ ก.ว. พร้อมด้วยคำคัดค้าน ถ้ามี เพื่อพิจารณาการออกใบอนุญาต
ในการพิจารณาคำขอรับใบอนุญาต ก.ว. จะเรียกผู้ขอรับใบอนุญาตหรือผู้อื่นคำคัดค้านมาให้ถ้อยคำชี้แจง หรือส่งเอกสาร หรือหลักฐานอื่นเพิ่มเติมก็ได้
นอกจากเหตุอื่นอันไม่สมควรออกใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ ก.ว. มีอำนาจปฎเสธการออกใบอนุญาตได้ในเมื่อได้พิจารณาเห็นว่าผลงานในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือวิชาชีพตามมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมตามข้อบังคับออกตาม มาตรา ๑๓ (๕) ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน มาตรา ๑๙ (๒) หรือ (๓) นั้น มีปริมาณหรือคุณภาพไม่เพียงพอแก่การออกใบอนุญาตประเภทนั้น ”
มาตรา ๑๔ ให้ยกเลิกความใน มาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ มาตรา ๒๒ ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมและใบอนุญาตพิเศษ ให้มีอายุห้าปีนับแต่วันออกใบอนุญาต เว้นแต่ใบอนุญาตประเภทวุฒิวิศวกรที่เสียค่าธรรมเนียมในอัตราตลอดชีพ ให้มีอายุตลอดชีพของผู้ได้รับใบอนุญาต
การต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นไปตามข้อบังคับของ ก.ว.
ถ้าใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทำลาย ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตยื่นคำร้องขอรับใบแทน ภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบการสูญหายหรือถูกทำลาย ”
มาตรา ๑๕ ให้ยกเลิกความใน มาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ มาตรา ๒๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตาม มาตรา ๑๙ และ มาตรา ๓๔ ต้องประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามประเภทและสาขาที่ได้ระบุไว้ในใบอนุญาต ทั้งนี้ ภายในข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ระบุในกฎกระทรวง สำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตพิเศษตาม มาตรา ๑๙ ทวิ ต้องประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามขนาดและสาขาที่ได้ระบุไว้ในใบอนุญาต
ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมประเภทและสาขาใดจะประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในสาขาอื่น นอกจากที่ได้ระบุไว้ในใบอนุญาตได้เพียงใด ให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ระบุในกฎกระทรวง ”
มาตรา ๑๖ ให้ยกเลิกความใน มาตรา ๒๖ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ มาตรา ๒๖ ทวิ ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือไม่ตอบหนังสือสอบถามของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือไม่ไปชี้แจงข้อเท็จจริง หรือไม่ส่งเอกสารหรือหลักฐานแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฎิบัติการตาม มาตรา ๑๔ ทวิ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท ”
มาตรา ๑๗ ให้ยกเลิกความใน มาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ มาตรา ๓๑ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมผุ้ใดประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในระหว่างถูกพักใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ”
มาตรา ๑๘ ให้ยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัตวิชาชชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ อัตราค่าธรรมเนียม
(๑) ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
(ก) ประเภทภาคีวิศวกร ๒๐๐ บาท
(ข) ประเภทสามัญวิศกร ๓๐๐ บาท
(ค) ประเภทวุฒิวิศวกร
อายุ ๕ ปี ๔๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๑,๒๐๐ บาท
(ง) ตาม มาตรา ๑๙ ทวิ ๒๐๐ บาท
(๒) ค่าต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมที่ขอต่ออายุใบอนุญาตก่อนใบอนุญาตหมดอายุ
(ก) ประเภทภาคีวิศวกร ๑๐๐ บาท
(ข) ประเภทสามัญวิศวกร ๑๕๐ บาท
(ค) ประเภทวุฒิวิศวกร ๒๐๐ บาท
(ง) ตาม มาตรา ๑๙ ทวิ ๑๐๐ บาท
สำหรับผู้ที่ขอต่ออายุใบอนุญาตหลังจากใบอนุญาตหมดอายุ ให้เพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมตาม (ก) เป็น ๒๐๐ บาท (ข) เป็น ๓๐๐ บาท (ค) เป็น ๔๐๐ บาท และ (ง) เป็น ๒๐๐ บาท
(๓) ใบแทนใบอนุญาตหรือหลักฐานรับรองการได้รับใบอนุญาต ๒๐ บาท
(๔) ค่าทดสอบความรู้ครั้งละ ๔๐๐ บาท ”
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก บุญชัย บำรุงพงศ์
รองนายกรัฐมนตรี
(๙๔ ร.จ. ๔ ตอนที่ ๗๘ (ฉบับพิเศษ) ลงวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๒๐)
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือเนื่องจากพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ และพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๒ มีบทบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม คุณวุฒิ คุณสมบัติ และระยะเวลาประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมของผู้ขอรับใบอนุญาต การประกาศชื่อ ที่อยู่ และคุณวุฒิของผู้ขอรับใบอนุญาต อายุใบอนุญาตบางประเภท ข้อกำหนดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมของผู้ได้รับใบอนุญาต โทษ อัตราค่าธรรมเนียมที่ไม่เหมาะสม และเพื่อใหคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมมีอำนาจออกใบอนุญาตพิเศษตามความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของผู้ขอรับใบอนุญาตแต่ละรายได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น