พระราชบัญญัติ
วิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๒
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๒
เป็นปีที่ ๒๔ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรม
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “ พระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๒ ”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความ มาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ และให้ใช้ความ ต่อไปนี้แทน
“ มาตรา ๑๓ ให้ ก.ว. มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลซึ่งมีสิทธิและสมควรเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้
(๒) สั่งพักใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้
(๓) ออกข้อบังคับวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต แบบใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การสั่งพักใบอนุญาตหรือการเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้
(๔) ออกข้อบังคับวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเทียบปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพการช่างที่มิใช่วิชาชีพวิศวกรรมตามพระราชบัญญัตินี้เป็นคุณวุฒิในวิชาชีพวิศวกรรมและการทดสอบความรู้
(๕) ให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่มหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาอื่นในการศึกษาวิชาในสาขาต่าง ๆ ของวิศวกรรมศาสตร์ ”
ความในมาตรา ๑๓ นี้ ถูกยกเลิกและใช้ความใหม่แทนแล้วโดย มาตรา ๖ แห่ง พ.ร.บ.ฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๐
มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น มาตรา ๑๔ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕
“ มาตรา ๑๔ ทวิ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบใบอนุญาตหรือการปฎิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม และเพื่อการนี้ให้มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือมีเหตุผลพอเชื่อได้ว่าได้ใช้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในเวลากลางวันได้ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกาารควบคุมหรือผู้ครอบครองสถานที่นั้นต้องอำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามสมควร
ในการปฎิบัติการตามหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ถ้าปรากฎว่าผู้ใดประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต หรือได้รับใบอนุญาตแต่ปฎิบัติไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎกระทรวงออกตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดหรือรวบรวมเอกสารหรือหลักฐานอย่างอื่นเท่าที่จำเป็นเพื่อดำเนินการต่อไปตามควรแก่กรณี
ให้นำ มาตรา ๑๐๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับแก่การยึดหรือการรวบรวมเอกสารหรือหลักฐานอย่างอื่นตามวรรคสองโดยอนุโลม ”
ความในมาตรา ๑๔ ทวิ นี้ถูกยกเลิกและใช้ความใหม่แทนแล้วโดย มาตรา ๗ แห่ง พ.ร.บ.ฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๐
มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น มาตรา ๑๔ ตรี แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕
“ มาตรา ๑๔ ตรี พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม มาตรา ๑๔ ทวิ ต้องมีบัตรประจำตัวตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง และในการปฎิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องแสดงบัตรประจำตัวเมื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องร้องขอ ”
มาตรา ๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น มาตรา ๑๔ จัตวา แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕
“ มาตรา ๑๔ จัตวา ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม มาตรา ๑๔ ทวิ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมาย อาญา ”
มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความใน มาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ มาตรา ๑๕ ห้ามมิให้ผู้ใดเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม เว้นแต่ จะได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมจาก ก.ว. ”
มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความใน มาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ มาตรา ๑๙ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมจะต้องมีคุณวุฒิในวิชาชีพวิศวกรรม ดังต่อไปนี้
(๑) สำหรับภาคีวิศวกรจะต้องมีปริญญาในสาขาที่ขอรับใบอนุญาตตามหลักสูตรการศึกษาและจากสภานศึกษาที่ ก.ว. รับรอง หรือมีประกาศนียบัตรที่ ก.ว. เทียบได้ไม่ต่ำกว่าปริญญาในสาขาที่ขอรับใบอนุญาต หรือมีปริญญาหรือประกาศนียบัตรที่ ก.ว. เทียบตามข้อบังคับออกตาม มาตรา ๑๓ (๔)
(๒) สำหรับสามัญวิศวกรจะต้องเป็นภาคีวิศวกรซึ่งได้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในสาขาที่ได้รับใบอนุญาตเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปี
(๓) สำหรับวุฒิวิศวกรจะต้องเป็นสามัญวิศวกรซึ่งได้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในสาขาที่ได้รับใบอนุญาตเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเจ็ดปี
ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม โดยได้รับเทียบปริญญาหรือประกาศนียบัตรตามข้อบังคับออกตาม มาตรา ๑๓ (๔) เมื่อขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมประเภทสามัญวิศวกรหรือวุฒิวิศวกรต้องผ่านการทดสอบความรู้จาก ก.ว. ”
ความในมาตรา ๑๙ ใหม่นี้ถูกยกเลิกและใช้ความใหม่แทนแล้วโดย มาตรา ๑๐ แห่ง พ.ร.บ.ฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๐
มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความใน มาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ มาตรา ๒๑ เมื่อได้รับคำขอรับใบอนุญาต ให้เลขานุการ ก.ว. ประกาศชื่อ ที่อยู่และคุณวุฒิของผู้ขอรับใบอนุญาต พร้อมทั้งรายละเอียดอื่นเพื่อการนี้ ไว้ ณ สำนักงาน ก.ว. เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน เพื่อให้โอกาสบุคคลอื่นยื่นคำคัดค้าน
เมื่อได้ประกาศครบกำหนดแล้ว ให้เลขานุการ ก.ว. เสนอคำขอรับใบอนุญาตต่อ ก.ว. พร้อมด้วยคำคัดค้าน ถ้ามี เพื่อพิจารณาการออกใบอนุญาต
ในการพิจารณาคำขอรับใบอนุญาต ก.ว. จะเรียกผู้ขอรับใบอนุญาตหรือผู้ยื่นคำคัดค้านมาให้ถ้อยคำ ชี้แจง หรือส่งเอกสารหรือหลักฐานอื่นเพิ่มเติมก็ได้
นอกจากเหตุอื่นอันไม่สมควรออกใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ ก.ว. มีอำนาจปฎิเสธการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตได้ในเมื่อได้พิจารณาเห็นว่าผลงานในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน มาตรา ๑๙ (๒) หรือ (๓) นั้น มีปริมาณหรือคุณภาพไม่เพียงพอแก่การออกใบอนุญาตประเภทนั้น ”
ความในมาตรา ๒๑ ใหม่นี้ถูกยกเลิกและใช้ความใหม่แทนแล้วโดย มาตรา ๑๓ แห่ง พ.ร.บ.ฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๐
มาตรา ๑๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๖ ทวิ ของ หมวด ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕
“ มาตรา ๒๖ ทวิ ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฎิบัติการตาม มาตรา ๑๔ ทวิ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท ”
ความในมาตรา ๒๖ ทวิ ถูกยกเลิกและใช้ความใหม่แทนแล้วโดย มาตรา ๑๖ แห่ง พ.ร.บ.ฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๐
มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกความใน (ข) ของ มาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติของวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ (ข) ถ้าผู้ขอรับใบอนุญาตมีคุณวุฒิตาม มาตรา ๑๙ (๑) แต่มิใช่โดยการได้รับเทียบปริญญาหรือประกาศนียบัตรตามข้อบังคับออกตาม มาตรา ๑๓ (๔) และได้ปฎิบัติงานเกี่ยวกับวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในสาขาใดสาขาหนึ่งหรือหลายสาขารวมกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปีก่อนวันที่กฎกระทรวงออกตามมาตรา ๖ ใช้บังคับ ก.ว. จะออกใบอนุญาตให้ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นสามัญวิศวกรในสาขาหนึ่งสาขาใดหรือหลายสาขาก็ได้
ระยะเวลาสามปีใน (ข) ให้เปลี่ยนเป็นสิบปีสำหรับการขอรับใบอนุญาตเป็นวุฒิวิศวกร ”
มาตรา ๑๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น มาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕
“ มาตรา ๓๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตาม มาตรา ๓๔ (ก) หรือผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตาม มาตรา ๓๔ (ข) ในสาขาที่ไม่ตรงกับคุณวุฒิของตน เมื่อขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมประเภทสามัญวิศวกรหรือวุฒิวิศวกร ต้องผ่านการทดสอบความรู้จาก ก.ว. ”
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ถนอม กิตติขจร
นายกรัฐมนตรี
(๘๖ ร.จ. ๖๑ ตอนที่ ๕ ลงวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๑๒)
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อกำหนดให้ ก.ว. มีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับการเทียบคุณวุฒิวิชาชีพวิศวกรรม ทดสอบความรู้ในกรณีขอเลื่อนประเภทและตรวจสอบคุณวุฒิผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับและมตรฐานเดียวกัน รวมทั้งป้องกันผู้มีความรู้ต่ำกว่ามาตรฐานหรือผู้หลีกเลี่ยงประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมโดยแอบอ้างมิได้กระทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ สินจ้าง หรือบำเหน็จรางวัล อีกด้วย