พระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ อ่าน 5,143

พระราชบัญญัติ

วิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕

เป็นปีที่ ๑๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรม

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “ พระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ ”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

“ วิชาชีพวิศวกรรม ” หมายความว่า วิชาชีพการช่างในสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมเหมือนแร่ และสาขาวิศวกรรมอื่นใด ซึ่งจะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

“ วิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ” หมายความว่า วิชาชีพวิศวกรรมที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง

“ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ” หมายความว่า ผู้รับผิดชอบในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม

“ รัฐมนตรี ” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔ พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่ชาวต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในกิจการที่รัฐบาลตกลงกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติหรือรัฐบาลต่างประเทศ หรือในกิจการอื่นใดซึ่งจะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียบและพนักงานเจ้าหน้าที่ และออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฎิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑

การควบคุมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม

มาตรา ๖ รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดให้วิชาชีพวิศวกรรมสาขาใด แขนงใด หรือขนาดใด เป็นวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม การกำหนดเช่นว่านี้ให้กระทำโดยระบุในกฎกระทรวง

มาตรา ๗ ให้มีกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เรียกว่า “ คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม ” เรียกโดยย่อว่า “ ก.ว. ” ประกอบด้วยปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานและกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจาก

(๑) วุฒิวิศวกรซึ่งเป็นข้าราชการในกระทรวงทบวงกรมจำนวนสองคน

(๒) วุฒิวิศวกรซึ่งเป็นข้าราชการในมหาวิทยาลัยในตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำจำนวนสองคน

(๓) วุฒิวิศวกรในสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมเหมืองแร่ และในสาขาวิศวกรรมอื่น ซึ่งจะได้กำหนดโดยพระราชกฤฎีกาสาขาละสองคน โดยคนหนึ่งในแต่ละสาขานั้นจะแต่งตั้งจากวุฒิวิศวกรซึ่งสมาคมวิชาชีพวิศวกรรมที่ ก.ว. รับรองเสนอมาก็ได้

ให้ ก.ว. เลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นรองประธาน มีหน้าที่ช่วยประธานตามที่ประธานมอบหมาย และเป็นผู้ทำการแทนประธานในเมื่อประธานไม่อยู่หรือไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้

กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และอาจแต่งตั้งซ้ำอีกได้แต่ไม่เกินกว่าสองครั้งติด ๆ กัน

มาตรา ๗ ความเดิมถูกยกเลิกโดย มาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความใหม่แทน ดังที่พิมพ์ไว้นี้

มาตรา ๘ กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ครบวาระ

(๒) ตาย

(๓) ลาออก

(๔) ถูกพักหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม

(๕) ขาดจากการเป็นข้าราชการ สำหรับกรรมการตาม มาตรา ๗ (๑)

(๖) ขาดจากการเป็นข้าราชการหรือขาดจากการเป็นศาสตราจารย์ประจำในมหาวิทยาลัยสำหรับกรรมการตาม มาตรา ๗ (๒)

เมื่อกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งผู้อื่นในจำพวกเดียวกันเป็นกรรมการแทน

กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งตามวรรคสอง อยู่ในตำแหน่งตามวาระของกรรมการที่ตนแทน

มาตรา ๘ ความเดิมถูกยกเลิกโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความหใม่แทนดังที่พิมพ์ไว้นี้

มาตรา ๙ เมื่อกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งนั้นคงอยู่รักษาการต่อไปจนกว่ากรรมการที่ได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

มาตรา ๑๐ ให้จัดตั้งสำนักงาน ก.ว. ขึ้นในสำนักงานปลัดกระทรวมหาดไทยมีนายทะเบียนคนหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการรักษาทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมและในกิจการอื่นทั่วไป และให้มีพนักงานเจ้าหน้าที่ตามสมควร ให้นายทะเบียนเป็นเลขานุการ ก.ว. ด้วย

มาตรา ๑๑ การประชุม ก.ว. ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุม ถ้าในการประชุมคราวใดประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการด้วยกันคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

ภายใต้บังคับมาตรา ๑๒ มติของที่ประชุม ก.ว. ให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา ๑๒ มติของที่ประชุม ก.ว. ดังต่อไปนี้จะต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด

(๑) มติให้สั่งพักใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม

(๒) มติออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมซึ่งถูกเพิกถอนใบอนุญาต

(๓) มติยกเว้นคุณสมบัติตาม มาตรา ๑๘ (๓)

(๓) ของมาตรา ๑๒ เพิ่มเติมโดย มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๐ และได้เพิ่มเติมไว้แล้ว

มาตรา ๑๓ ให้ ก.ว. มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) ออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลซึ่งมีสิทธิและสมควรเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม

(๒) สั่งพักใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม

(๓) ออกข้อบังคับวางหลักเกณฑ์เกี่ยว กับการทดสอบความรู้การขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต แบบใบอนญาต การต่ออายุใบอนุญาต การไต่สวน การสั่งพักใบอนุญาต หรือการเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม

(๔) ออกข้อบังคับวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเทียบปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพการช่าง เป็นคุณวุฒิในวิชาชีพวิศวกรรม

(๕) ออกข้อบังคับวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม

(๖) ให้คำปรึกษา และคำแนะนำแก่มหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาอื่นในการศึกษาวิชาในสาขาต่างๆ ของวิศวกรรมศาสตร์

มาตรา ๑๓ ความเดิมถูกยกเลิกโดย มาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๒ และ มาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความใหม่แทนดังที่พิมพ์ไว้นี้

มาตรา ๑๔ ให้ ก.ว. มีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการ เพื่อทำกิจการหรือไต่สวนพิจารณาเรื่องต่าง ๆ อันอยู่ในขอบเขตแห่งอำนาจและหน้าที่ของ ก.ว. ได้

ให้นำ มาตรา ๑๑ มาใช้บังคับแก่การประชุมคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

มาตรา ๑๔ ทวิ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบใบอนุญาตหรือการปฎิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม และเพื่อการนี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใดมาชี้แจงข้อเท็จจริง รวมทั้งให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานได้

(๒) เข้าไปในสถานที่ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือมีเหตุผลพอเชื่อได้ว่าได้ใช้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือผู้ครอบครองสถานที่นั้น ต้องอำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามสมควร

ในการปฎิบัติการตามหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม (๑) หรือ (๒) ถ้าปรากฎว่าผู้ใดประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับใบอนุญาตแก่ปฎิบัติไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎกระทรวงออกตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดหรือรวบรวมเอกสารหรือหลักฐานอย่างอื่นเท่าที่จำเป็น เพื่อดำเนินการต่อไปตามควรแก่กรณี

ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในส่วนที่เกี่ยวกับการค้ามาใช้บังคับแก่การยึดหรือการรวบรวมเอกสารหรือหลักฐานตามวรรคสองโดยอนุโลม

มาตรา ๑๔ ทวิ เพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๒ และ มาตรา ๑๔ ทวิ ความเดิมถูกยกเลิกโดย มาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความใหม่แทนดังที่พิมพ์ไว้นี้

มาตรา ๑๔ ตรี พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม มาตรา ๑๔ ทวิ ต้องมีบัตรประจำตัวตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง และในการปฎิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ต้องแสดงบัตรประจำตัวเมื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องร้องขอ

มาตรา ๑๔ จัตวา ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม มาตรา ๑๔ ทวิ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๑๔ ตรี และ มาตรา ๑๔ จัตวา เพิ่มเติมโดย มาตรา ๕ และ มาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๒ และได้เพิ่มเติมไว้แล้ว

หมวด ๒

การออกใบอนุญาต

มาตรา ๑๕ ห้ามมิให้ผู้ใดเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมจาก ก.ว.

มาตรา ๑๕ ความเดิมถูกยกเลิกโดย มาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๒ และให้ใช้ความใหม่แทนดังที่พิมพ์ไว้นี้

มาตรา ๑๖ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละสาขามี ๓ ประเภท คือ

(๑) ภาคีวิศวกร

(๒) สามัญวิศวกร

(๓) วุฒิวิศวกร

มาตรา ๑๗ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมจะต้องมีคุณสมบัติตาม มาตรา ๑๘ และต้องมีคุณวุฒิในวิชาชีพวิศวกรรมตาม มาตรา ๑๙ หรือผ่านการทดสอบความรู้ตาม มาตรา ๑๙ ทวิ แล้วแต่กรณี

มาตรา ๑๗ ความเดิมถูกยกเลิกโดย มาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความใหม่แทนดังที่พิมพ์ไว้นี้

มาตรา ๑๘ คุณสมบัติของผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม คือ

(๑) มีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์

(๒) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี

(๓) ไม่เคยต้องโทษจำคุกในคดีที่ ก.ว. เห็นว่าอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ เว้นแต่ได้พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีนับแต่วันพ้นโทษ และ ก.ว. เห็นสมควรยกเว้นให้

(๔) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(๓) ของมาตรา ๑๘ ความเดิมถูกยกเลิกโดย มาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความใหม่แทนดังที่พิมพ์ไว้นี้

มาตรา ๑๙ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมจะต้องมีคุณวุฒิในวิชาชีพวิศวกรรม ดังต่อไปนี้

(๑) สำหรับภาคีวิศวกรจะต้องมีปริญญาในสาขาที่ขอรับใบอนุญาตตามหลักสูตรการศึกษาและจากสถานศึกษาที่ ก.ว. รับรอง หรือมีประกาศนียบัตรที่ ก.ว. เทียบได้ไม่ต่ำกว่าปริญญาในสาขาที่ขอรับใบอนุญาต หรือมีปริญญา หรือประกาศนียบัตรที่ ก.ว. เทียบตามข้อบังคับออกตาม มาตรา ๑๓ (๔)

(๒) สำหรับสามัญวิศวกรจะต้องเป็นภาคีวิศวกรซึ่งได้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือวิชาชีพตามมาตราฐานในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมตามข้อบังคับออกตาม มาตรา ๑๓ (๕) ในสาขาที่ได้รับใบอนุญาตในฐานะภาคีวิศวกรมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่สามปี

ระยะเวลาสามปีใน (๒) ให้เปลี่ยนเป็นสองปีสำหรับภาคีวิศวกรที่ผ่านการทดสอบความรุ้จาก ก.ว.

(๓) สำหรับวุฒิวิศวกรจะต้องเป็นสามัญวิศวกร ซึ่งได้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือวิชาชีพตามมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมตามข้อบังคับออกตาม มาตรา ๑๓ (๕) ในสาขาที่ได้รับอนุญาตในฐานะสามัญวิศวกรมาแล้ว เป็นเวลาไม่น้อยกว่าเจ็ดปี

ระยะเวลาเจ็ดปีใน (๓) ให้เปลี่ยนเป็นห้าปีสำหรับสามัญวิศวกรที่ผ่านการทดสอบความรู้จาก ก.ว.

ผู้ได้รับอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมโดยได้รับเทียบปริญญาหรือประกาศนียบัตรตามข้องบังคับออกตาม มาตรา ๑๓ (๔) เมื่อขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมประเภทสามัญวิศวกรหรือวุฒิวิศวกรต้องผ่านการทดสอบจาก ก.ว.

มาตรา ๑๙ ทวิ นอกจากผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมประเภทต่างๆ ตาม มาตรา ๑๖ ก.ว. อาจออกใบอนุญาตพิเศษให้ผู้ที่มีคุณสมบัติเป็นผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตาม มาตรา ๑๘ ซึ่งผ่านการทดสอบความรู้จาก ก.ว. และ ก.ว. พิจารณาเห็นว่าอาจประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามขนาดที่เหมาะสมในสาขาหนึ่งสาขาใดหรือหลายสาขาได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ขอรับใบอนุญาตนั้นจะมีคุณวุฒิในวิชาชีพวิศวกรรมตาม มาตรา ๑๙ หรือไม่ก็ตาม

ให้ถือว่าผู้ได้รับใบอนุญาตพิเศษตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตและให้อยุ่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติใน หมวด ๑ หมวด ๓ หมวด ๔ และ หมวด ๕ ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๙ ความเดิมถูกยกเลิกโดย มาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๒ และ มาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๐ และมีความเพิ่มขึ้นเป็นมาตรา ๑๙ ทวิ โดย มาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความใหม่แทนดังที่พิมพ์ไว้นี้

มาตรา ๒๐ การขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตาม มาตรา ๑๖ และการขอรับใบอนุญาตพิเศษตาม มาตรา ๑๙ ทวิ ทั้งนี้ ไม่ว่าในวิชาชีพวิศวกรรมสาขาใดหรือหลายสาขา ให้เป็นไปตามข้อบังคับของ ก.ว.

มาตรา ๒๐ ความเดิมถูกยกเลิกโดย มาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความใหม่แทนดังที่พิมพ์ไว้นี้

มาตรา ๒๑ เมื่อได้รับคำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมประเภทภาคีวิศวกรหรือคำขอรับใบอนุญาตพิเศษตามมาตรา ๒๐ ให้เลขานุการ ก.ว. ประกาศชื่อ ที่อยู่ และคุณวุฒิของผู้ขอรับใบอนุญาตพร้อมทั้งรายละเอียดอื่น เพื่อการนี้ไว้ ณ สำนักงาน ก.ว. เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน เพื่อให้โอกาสบุคคลอื่นยื่นคำคัดค้าน

เมื่อได้ประกาศครบกำหนดแล้ว ให้เลขานุการ ก.ว. เสนอคำขอรับใบอนุญาตต่อ ก.ว. พร้อมด้วยคำคัดค้าน ถ้ามี เพื่อพิจารณาการออกใบอนุญาต

ในการพิจารณาคำขอรับใบอนุญาต ก.ว. จะเรียกผู้ขอรับใบอนุญาตหรือผู้ยื่นคำคัดค้านมาให้ถ้อยคำ ชี้แจง หรือส่งเอกสาร หรือหลักฐานอื่นเพิ่มเติมก็ได้

นอกจากเหตุอื่นอันไม่สมควรออกใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ ก.ว. มีอำนาจปฎิเสธการออกใบอนุญาตได้ในเมื่อได้พิจารณาเห็นว่าผลงานในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือวิชาชีพตามมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมตามข้อบังคับออกตาม มาตรา ๑๓ (๕) ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน มาตรา ๑๙ (๒) หรือ (๓) นั้น มีปริมาณหรือคุณภาพไม่เพียงพอแก่การออกใบอนุญาตประเภทนั้น

มาตรา ๑๔ ให้ยกเลิกความใน มาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา ๒๑ ความเดิมถูกยกเลิกโดย มาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๒ และ มาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความใหม่แทนดังที่พิมพ์ไว้นี้

มาตรา ๒๒ ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมและใบอนุญาตพิเศษ ให้มีอายุห้าปีนับแต่วันออกใบอนุญาต เว้นแต่ ใบอนุญาตประเภทวุฒิวิศวกรที่เสียค่าธรรมเนียมในอัตราตลอดชีพ ให้มีอายุตลอดชีพของผู้ได้รับใบอนุญาต

การต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นไปตามข้อบังคับของ ก.ว.

ถ้าใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทำลาย ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตยื่นคำร้องขอรับใบแทน ภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบการสูญหายหรือถูกทำลาย

มาตรา ๒๒ ความเดิมถูกยกเลิกโดย มาตรา ๑๔ แห่งพระราบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความใหม่แทนดังที่พิมพ์ไว้นี้

หมวด ๓

การประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมและมรรยาทแห่งวิชาชีพ

มาตรา ๒๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตาม มาตรา ๑๙ และ มาตรา ๓๔ ต้องประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามประเภทและสาขาที่ได้ระบุไว้ในใบอนุญาต ทั้งนี้ ภายในข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ระบุในกฎกระทรวง สำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตพิเศษตาม มาตรา ๑๙ ทวิ ต้องประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามขนาดและสาขาที่ได้ระบุไว้ในใบอนุญาต

ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมประเภทและสาขาใดจะประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในสาขาอื่นนอกจากที่ได้ระบุไว้ในใบอนุญาตได้เพียงใด ให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ระบุในกฎกระทรวง

มาตรา ๒๓ ความเดิมถูกยกเลิกโดย มาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความใหม่แทนดังที่พิมพ์ไว้นี้

มาตรา ๒๔ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ต้องรักษามรรยาทแห่งวิชาชีพตามที่กำหนดโดย กฎกระทรวง

หมวด ๔

การพักใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาต

มาตรา ๒๕ ให้ ก.ว. มีอำนาจสั่งพักใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมได้เมื่อปรากฎว่า

(๑) ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมผู้ใดขาดคุณสมบัติตาม มาตรา ๑๘

(๒) ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมผู้ใด กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้หรือกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้

การสั่งพักใบอนุญาต ให้สั่งได้ครั้งละไม่เกินหนึ่งปี

ก่อนพิจารณาสั่งพักใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต ให้ ก.ว. ดำเนินการไต่สวน โดยให้โอกาสแก่ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมผู้นั้นได้ทราบข้อกล่าวหาและยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา

มาตรา ๒๖ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมซึ่งถูกเพิกถอนใบอนุญาตอาจขอรับใบอนุญาตอีกได้เมื่อพ้นกำหนดสามปีนับแต่วันถูกเพิกถอนใบอนุญาต แต่เมื่อ ก.ว. ได้พิจารณาคำขอรับใบอนุญาตและไม่ยอมออกใบอนุญาตให้ ผู้นั้นจะยื่นคำขอรับใบอนุญาตได้อีกต่อเมื่อสิ้นระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ ก.ว. ปฎิเสธการออกใบอนุญาต ถ้า ก.ว. ปฎิเสธการออกใบอนุญาตครั้งที่สองนี้แล้ว ผู้นั้นหมดสิทธิขอรับใบอนุญาตอีกต่อไป

มีความเป็นมาตรา ๒๖ ทวิ เพิ่มขึ้นโดย มาตรา ๑๐ แห่ง พ.ร.บ.ฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๒

หมวด ๕

บทกำหนดโทษ

มาตรา ๒๖ ทวิ ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือไม่ตอบหนังสือสอบถามของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือไม่ไปชี้แจงข้อเท็จจริง หรือไม่ส่งเอกสารหรือหลักฐานแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฎิบัติการตาม มาตรา ๑๔ ทวิ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

มาตรา ๒๖ ทวิ เพิ่มเติมโดย มาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๒ และ มาตรา ๒๖ ทวิ ความเดิมถูกยกเลิกโดย มาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความใหม่แทนดังที่พิมพ์ไว้นี้

มาตรา ๒๗ ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา ๑๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๒๘ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมผู้ใดประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมโดยไม่ต่ออายุใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

มาตรา ๒๙ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมผู้ใดไม่ปฎิบัติตาม มาตรา ๒๒ วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท

มาตรา ๓๐ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมผู้ใดไม่ปฎิบัติตาม มาตรา ๒๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

มาตรา ๓๑ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมผู้ใดประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในระหว่างถูกพักใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๑ ความเดิมถูกยกเลิกโดย มาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความใหม่แทนดังที่พิมพ์ไว้นี้

หมวด ๖

บทเฉพาะกาล

มาตรา ๓๒ ในวาระเริ่มแรก ให้ ก.ว. ประกอบด้วยปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน และกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากข้าราชการกรมโยธาเทศบาลสองคน ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยสองคน และบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิในทางวิชาชีพวิศวกรรมอีกสาขาละสองคน จนกว่าจะได้มีวุฒิวิศวกรในทางวิชาชีพวิศวกรรมครบจำนวนสาขาละสิบคน

เมื่อได้มีวุฒิวิศวกรครบจำนวนสาขาละสิบคนดังกล่าวในวรรคก่อนแล้ว ให้รัฐมนตรีแต่งตั้ง ก.ว. ใหม่ตาม มาตรา ๗

มาตรา ๓๓ ผู้ใดประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมอยู่ในวันที่กฎกระทรวงออกตาม มาตรา ๖ ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นมีสิทธิประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมต่อไปได้อีกห้าปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับและถ้าประสงค์จะประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมต่อไปต้องขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับและเมื่อผู้นั้นได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาขีพวิศวกรรมควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ก็ให้ผู้นั้นประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมต่อไปได้จนกว่า ก.ว. จะได้มีหนังสือแจ้งการไม่ออกใบอนุญาตให้ทราบ

มาตรา ๓๔ ในการออกใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตาม มาตรา ๓๓ ให้ ก.ว. มีอำนาจพิจารณาออกใบอนุญาตได้ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(ก) ถ้าผู้ขอรับใบอนุญาตไม่มีคุณวุฒิตาม มาตรา ๑๙ (๑) แต่ได้ปฎิบัติงานเกี่ยวกับวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในสาขาใดสาขาหนึ่งหรือหลายสาขารวมกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีก่อนวันที่กฎกระทรวงออกตาม มาตรา ๖ ใช้บังคับ และเป็นผู้ผ่านการทดสอบความรู้จาก ก.ว. ก.ว. จะออกใบอนุญาตให้ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นภาคีวิศวกรในสาขาหนึ่งสาขาใดหรือหลายสาขาก็ได้

ระยะเวลาห้าปีใน (ก) ให้เปลี่ยนเป็นสิบปีสำหรับการขอรับใบอนุญาตเป็นสามัญวิศวกร และสิบห้าปีสำหรับวุฒิวิศวกร

(ข) ถ้าผู้ขอรับใบอนุญาตมีคุณวุฒิตาม มาตรา ๑๙ (๑) แต่มิใช่โดยการได้รับเทียบปริญญาหรือประกาศนียบัตรตามข้อบังคับออกตาม มาตรา ๑๓ (๔) และได้ปฎิบัติงานเกี่ยวกับวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในสาขาใดสาขาหนึ่งหรือหลายสาขารวมกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปีก่อนวันที่กฎกระทรวงออกตาม มาตรา ๖ ใช้บังคับ ก.ว. จะออกใบอนุญาตให้ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นสามัญวิศวกรในสาขาหนึ่งสาขาใดหรือหลายสาขาก็ได้

ระยะเวลาสามปีใน (ข) ให้เปลี่ยนเป็นสิบปีสำหรับการขอรับใบอนุญาตเป็นวุฒิวิศวกร

(ข) ของมาตรา ๓๔ ความเดิมถูกยกเลิกโดย มาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๒ และให้ใช้ความใหม่แทนดังที่พิมพฺ์ไว้นี้

มาตรา ๓๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตาม มาตรา ๓๔ (ก) หรือผู้ได้รับใบอนุญาตเป้นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตาม มาตรา ๓๔ (ข) ในสาขาที่ไม่ตรงกับคุณวุฒิของตน เมื่อขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมประเภทสามัญวิศวกรหรือวุฒิวิศวกร ต้องผ่านการทดสอบความรู้จาก ก.ว.

มาตรา ๓๕ เพิ่มเติมโดย มาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๒ และได้เพิ่มเติมไว้แล้ว

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ส. ธนะรัชต์

นายกรัฐมนตรี

(๗๙ ร.จ. ๑ ตอนที่ ๖๗ (ฉบับพิเศษ) ลงวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๐๕)

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือเนื่องจากวิชาชีพวิศวกรรมเช่นการก่สร้างอาคารขนาดใหญ่ การจัดตั้งโรงงานที่มีการใช้และการสร้างซ่อมเครื่องกลจักร เครื่องไฟฟ้า ได้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สมควรควบคุมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมเหล่านี้ เพื่อความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สมบัติ โดยกำหนดมาตรฐานความรู้ ความสามารถของผู้ประกอบและควบคุมงาน ตลอดจนส่งเสริมในทางวิทยาการและควบคุมความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมให้อยู่ในมาตรฐานอันดี

อัตราค่าธรรมเนียม

(๑) ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม

(ก) ประเภทภาคีวิศวกร ๒๐๐ บาท

(ข) ประเภทสามัญวิศวกร ๓๐๐ บาท

(ค) ประเภทวุฒิวิศวกร

  • อายุ ๕ ปี ๔๐๐ บาท
  • ตลอดชีพ ๑,๒๐๐ บาท

(ง) ตาม มาตรา ๑๙ ทวิ ๒๐๐ บาท

(๒) ค่าต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมที่ขอต่ออายุใบอนุญาตก่อนใบอนุญาตหมดอายุ

(ก) ประเภทภาคีวิศวกร ๑๐๐ บาท

(ข) ประเภทสามัญวิศวกร ๑๕๐ บาท

(ค) ประเภทวุฒิวิศวกร ๒๐๐ บาท

(ง) ตาม มาตรา ๑๙ ทวิ ๑๐๐ บาท

สำหรับผู้ที่ขอต่ออายุใบอนุญาตหลังจากใบอนุญาตหมดอายุ ให้เพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมตาม (ก) เป็น ๒๐๐ บาท (ข) เป็น ๓๐๐ บาท (ค) เป็น ๔๐๐ บาท และ (ง) เป็น ๒๐๐ บาท

(๓) ๆใบแทนใบอนุญาตหรือหลักฐานรับรองการได้รับใบอนุญาต ๒๐ บาท

(๔) ค่าทดสอบความรู้ครั้งละ ๔๐๐ บาท

อัตราค่าธรรมเนียม ความเดิมถูกยกเลิกโดย มาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความใหม่แทนดังที่พิมพ์ไว้นี้

 

 

คะแนน:
ร่วมแสดงความคิดเห็น (Post Comment)