ที่มา. วสท.
การตรวจสอบอาคารด้านอัคคีภัย
โดย นายพิชญะ จันทรานุวัฒน์
ประธานคณะกรรมการความปลอดภัยด้านอัคคีภัย
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ในระยะเวลาอันใกล้นี้จะมีการบังคับใช้กฎหมายการตรวจสอบอาคารเพื่อความปลอดภัย ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนอย่างมาก ปัจจุบันไม่มีการรับรองใดๆเลยว่าอาคารที่ประชาชนเข้าไปใช้งานหรืออาศัยอยู่มีความปลอดภัยดีพอ ไม่น่าเชื่อว่ามีหลายอาคารที่ทันสมัยที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปตรวจสอบระบบความปลอดภัย มักจะพบว่าระบบดังกล่าวมีการติดตั้งปรากฎให้เห็นแต่ไม่สามารถใช้งานได้ เพราะขาดการดูแลรักษา ซ่อมบำรุงที่ดี รวมทั้งการออกแบบ ติดตั้งที่ไม่คำนึงถึงความสะดวกในการดูแลรักษา ในขณะที่ผู้บริหารอาคารมีทั้งที่รู้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นและไม่รู้หรือคาดไม่ถึง จากการประมวลประสพการณ์ตรวจสอบอาคารที่ผ่านมาพบว่า ระบบความปลอดภัยไม่ว่าระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ระบบดับเพลิงถูกจัดระดับความสำคัญไว้ท้ายสุด เพราะถ้าระบบดังกล่าวเสียอยู่มักจะรู้ไม่กี่คน ซึ่งส่วนใหญ่จะรู้เพียงช่างและหัวหน้างานบางคนเท่านั้น และบางแห่งไม่กล้ารายงานให้ผู้บริหารทราบก็มี ช่างจำนวนมากถูกมอบหมายให้ทำงานจิปาถะประจำเป็นหลัก เช่นไปติดรูปภาพในห้องเจ้านายหน่อย (เพิ่งได้ยินมากับหูเมื่อวานนี้ ขณะที่เครื่องสูบน้ำดับเพลิงเสียอยู่) หลอดไฟขาดไปเปลี่ยนหน่อย แอร์ห้องลูกค้าไม่เย็นไปตรวจสอบหน่อย เป็นต้น ความจริงแล้วกรณีเช่นนี้หรือการปล่อยปะละเลยให้ระบบความปลอดภัยเสียจนไม่สามารถใช้งานได้เช่นนี้น่าจะเป็นความผิดทางกฎหมายได้เพราะทำให้ประชาชนผู้ใช้อาคารทุกคนตกอยู่ในความเสี่ยงภัย ในบางประเทศหากมีการระงับการใช้ระบบความปลอดภัยเกิน 4 ชั่วโมง ต้องแจ้งหน้าที่ของรัฐทันที
ดังนั้นกฎหมายการตรวจสอบอาคารจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง ในการที่ให้ผู้รับผิดชอบหรือผู้เกี่ยวข้องทุกคนหันมาเอาใจใส่ต่อระบบความปลอดภัยต่างๆมากขึ้นและเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่อย่างไรก็ตามการตรวจสอบอาคารโดยบุคคลที่สามจึงมีความสำคัญมาก โดยผู้ตรวจสอบอาคารต้องมีความรู้ และประสพการณ์ซึ่งไม่ง่ายนักสำหรับการเริ่มต้น เพราะปัจจุบันยังไม่มีผู้ตรวจสอบอาคารเลย รวมทั้งมาตรการและแนวทางการตรวจสอบด้วย บทบาทการพัฒนาผู้ตรวจสอบอาคารเท่าที่ทราบเห็นมีอยู่สองหน่วยงานคือ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ และสถาปนิกสยามฯเท่านั้นที่กำลังดำเนินการจัดทำหลักสูตรอบรมผู้ตรวจสอบอาคาร และยกร่างมาตรการและแนวทางการตรวจสอบอาคารอยู่ นอกจากนี้ทราบว่าทาง National Fire Protection Association หรือที่รู้จักกันดีคือ NFPA ก็มีความสนใจในเรื่องการตรวจสอบอาคารเช่นกัน จึงได้ขอความร่วมมือกับทั้งสองหน่วยงานเพื่อจัดอบรมสัมมนาร่วมกันเรื่องการตรวจสอบอาคารด้านอัคคีภัย บรรยายโดยผู้ชำนาญการที่มีความรู้และประสพการณ์การตรวจสอบอาคารที่ประเทศสหรัฐอเมริกา Mr. Kelvin L. Hammons และ Mr. Jeff M. Hopkins ซึ่งจัดขึ้นที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ในวันที่ 1-2 เมษายน 2547 ซึ่งเห็นว่าจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคลากรเพื่อเป็นผู้ตรวจสอบอาคารในอนาคต รวมทั้งจะได้มีโอกาสทราบถึงแนวทางการตรวจสอบอาคารด้านอัคคีภัยของประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย ในงานสัมมนาทราบว่าจะมีหนังสือเรื่องคู่มือการตรวจสอบอาคารด้านอัคคีภัย (NFPA Building Inspection Manual) มูลค่ากว่า 4000 บาท มาประกอบการบรรยายด้วย ผู้ที่ไม่ควรพลาดการสัมมนานี้ได้แก่ บุคลากรที่กำลังจัดเตรียมหลักสูตรการสอนจาก สมาคมวิชาชีพ และมหาวิทยาลัย ส่วนหน่วยราชการที่กำกับดูแลความปลอดภัยจาก กรมโยธาธิการ กรุงเทพมหานคร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมแรงงาน และกรมอุตสาหกรรม นอกจากนี้ทั้งวิศวกร และสถาปนิกที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ ควบคุม ดูแลอาคาร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้กำลังเตรียมตัวขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคารก็ต้องไม่พลาด ในการสัมมนาครั้งนี้อาจช่วยการกระตุ้นให้หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนเกิดการตื่นตัว และเร่งเตรียมความพร้อมในการที่จะมีผู้ตรวจสอบอาคารในเร็วๆนี้ ซึ่งร่างกฎกระทรวงขึ้นทะเบียนผู้ตรวจสอบอาคารขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบร่างกฎกระทรวงโดยคณะทำงานของกฤษฎีกา ถึงแม้ว่าผู้ตรวจสอบอาคารจะมีหน้าที่ครอบคลุมความปลอดภัย ความมั่นคงแข็งแรง สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรก็ตามความปลอดภัยด้านอัคคีภัยก็เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากปัจจัยหนึ่ง และมีความสลับซับซ้อนมากและเชื่อมโยงกันหลายเรื่องหลายระบบเพื่อให้เกิดความปลอดภัยที่ดีต่อผู้ใช้อาคาร