อย่าถือว่าเป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายวิศวกรเลยครับ เพราะมีคนอีกมากมายไม่ทราบเลยว่า ไอ้เจ้าพื้นคอนกรีตบาง ๆ แถมไม่มีคานรับหัวเสาที่เขาใช้สร้างอาคารสูง ๆ นั้นคืออะไร นอกจากความรู้สึกอย่างเดียวว่า “เสียวดีจัง”
พื้น Post Tension โดยทั่วไปคือระบบพื้นคอนกรีตที่มีเหล็กเส้นที่รับแรงดึงได้มาก ๆ เสริมอยู่ภายใน และทำการดึงเส้นเหล็กนั้นให้ตึงเมื่อหล่อคอนกรีตเสร็จแล้ว เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของพื้น (เหมือนเมื่อเด็ก ๆ เราเล่นเอากระดาษหรือไพ่หลาย ๆ แผ่นมาเจาะรูตรงกลางแล้วร้อยหนังสติ๊กเข้าไป เมื่อดึงหนังสติ๊กให้ตึง ทำการผูกยึดที่หัวท้าย แม้จะปล่อยมือออกจากกัน แผ่นกระดาษหรือไพ่ปึกนั้นก็ไม่แตกกระจายออกจากกัน คงรูปเป็นปึกไว้เหมือนเดิม) การที่มีเหล็กแรงดึงดูดเสริมและดึงอยู่ในพื้นคอนกรีตนี่เอง ทำให้โครงสร้างชนิดนี้มีหน้าตัดที่บางลง และไม่จำเป็นต้องมีคานมารัดหัวเสาเพื่อการถ่ายน้ำหนัก จากพื้นสู่เสาด้วย ราคาค่าก่อสร้างหลายอาคารก็ถูกลง และยังลดความสูงระหว่างชั้นได้ด้วย
แต่ในความก้าวหน้าและความดีนี่ก็มีความน่ากลัวแฝงอยู่ เหมือนเลี้ยงเสือไว้เฝ้าบ้าน หากเลี้ยงผิดวิธี …เสือจะคาบไปแด… พราะหากเปรียบเทียบเหล็กเส้นรับแรงดึงที่ยึดเหนี่ยวมวลคอนกรีต เหมือนหนังสติ๊กรัดตรึงปึกกระดาษ หากหนังสติ๊กขาดลง …ไพ่ทั้งสำรับก็แตกกระจายลงสู่ดิน …อาคารที่ทำด้วยระบบ Post Tension นี้ก็เช่นกันหากคุณทุบพื้น หรือเจาะพื้น หรือต่อเติมอาคารแล้วไปทำให้เหล็กรับแรงดึงนี้ขาด อาคารคุณก็จะแตกกระจายเหมือนกับไพ่ทั้งสำรับแตกจากกัน ต่างกันเพยงแต่ว่าไพ่คอนกรีตสำรับนี้มีคุณยินอยู่ภายในด้วย… เท่านั้นแหละครับ
พื้นระบบ Post Tension คือพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรง ที่จะมีการดึงเหล็กเส้นที่อยู่ในคอนกรีตภายหลังเทคอนกรีตแล้วเสร็จ เพื่อให้โครงสร้างสามารถรับแรงได้มากกว่าปกติ จนทำให้โครงสร้างพื้นเห็นเป็นเพียงแผ่นคอนกรีตบาง ๆ (20-28 ซม.) ไม่มีคานมารับตามช่วงเสา พื้นระบบ Post Tension นี้ดีเพราะก่อสร้างไม่ยากนัก (ง่ายกว่าระบบมีคานแยะ) และลดค่าใช้จ่ายในงานโครงสร้างได้พอสมควรทีเดียว
แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อห้ามสำคัญก็คือ หากมีน้ำขังอยู่ที่บริเวณพื้นระบบนี้ และน้ำสามารถซึมผ่านเข้าไปสู่เหล็กเส้นแรงดึงสูง และเหล็กเส้นนั้นเป็นสนิม แล้วเส้นเหล็กนั้นเกิดขาด-วิบัติขึ้นมา…ตึกพังทั้งหลังเชียวนาครับ