ปัญหายอดฮิต ต่อเติมแล้วร้าว อ่าน 2,733

ตอนที่ 1 สำหรับอาคารในบริเวณกรุงเทพฯและปริมณฑล

สำหรับปัญหายอดฮิตนี้ สามารถพบเห็นได้ทั่วไป เป็นที่น่าเสียดายทรัพยากรของชาติที่หมดเปลืองไปกับความไม่รู้ ไม่ยอมใส่ใจของผู้รับเหมารายย่อย นั่นคือการร้าวในส่วนต่อเติมนั่นเอง นอกจากจะทำให้ส่วนต่อเติมเสียหายแล้ว บางครั้งพลอยให้โครงสร้างหลักของอาคารเดิมเสียหายไปด้วย

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนครับว่าสาเหตุนั้นมีที่มาอย่างไร อันนี้เป็นลักษณะเฉพาะของดินกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ดินเหนียวอ่อนที่รองรับผิวดินกรุงเทพฯนั้น จะมีการทรุดตัวลงไปเรื่อยๆจากการสูบน้ำบาดาล โดยดินในระดับบนๆจะทรุดตัวลงมากกว่าเนื่องจากเนื้อดินมีน้ำอยู่มาก และจะทำให้โครงสร้างที่วางบนเข็มสั้นทรุดมากกว่าโครงสร้างที่วางบนเข็มยาว

เพราะฉนั้นเมื่อคุณทำการต่อเติม ตัวอาคารเดิมซึ่งบางครั้งเป็นเข็มยาวบ้างสั้นบ้าง (แต่มักจะยาวกว่าเข็มส่วนต่อเติม) แต่ส่วนต่อเติมไม่สามารถนำปั้นจั่นเข้ามาทำการตอกเข็มขนาดใหญ่ได้ ก็ต้องใช้เป็นเข็มขนาดเล็กยาว 4 หรือ 6 เมตร ทำให้ส่วนต่อเติมนั้นทรุดตัวมากกว่าอาคารเดิม โดยทั่วไปที่ทำกันโดยไม่เข้าใจเรื่องนี้ก็มักจะต่อเชื่อมส่วนต่อเติมเข้ากับอาคารเดิม เมื่อเวลาผ่านไปโครงสร้างทรุดตัวไม่เท่ากัน ก็จะดึงกันเกิดการร้าวเอียงได้

การแก้ปัญหาเรื่องนี้เราไม่สามารถฝืนธรรมชาติของแผ่นดินที่รับน้ำหนักโครงสร้างทั้งหมดไว้ได้ แต่จะต้องยอมตามไม่ขัดขืน คือการแยกโครงสร้างให้ทั้งสองส่วนไม่เกาะ ไม่เกี่ยว ไม่ยึด ด้วยประการทั้งปวง เพื่อให้โครงสร้างทั้งสอง สามารถทรุดตัวเป็นอิสระต่อกันโดยไม่ดึงกันร้าวครับ หลักการง่ายๆแค่นี้ แต่ถ้าจะทำให้ "ขาด" กันจริงๆ ตั้งแต่ฐานรากยันหลังคาต้องมีเทคนิคนิดหน่อย แต่ใช้การคุมงานใกล้ชิดมากครับ อีกวิธีคืออาจจะใช้เข็มเจาะลึกเกือบเท่าอาคารเดิม จะช่วยลดการทรุดตัวต่างระดับได้มากครับ

แนะนำว่าหากจะต้องต่อเติมในลักษณะดังกล่าว ควรให้วิศวกรออกแบบ และควบคุมงานให้ แม้ว่าจะดูเล็กๆ ไม่น่าจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนนี้ แต่รับรองว่าคุ้มกับการเสี่ยงที่จะต้องทุบทิ้งในระยะเวลาไม่กี่ปีครับ

ตอนที่ 2 สำหรับบริเวณอื่นๆ

สำหรับการต่อเติมในบริเวณอื่นๆที่ไม่ได้มีปัญหาแผ่นดินทรุดเช่นในกรุงเทพฯนั้น โอกาสที่จะเกิดการเอียงร้าวดังกล่าวมีน้อย หรือ อาจจะเป็นไม่มาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะดินในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยควรจะแยกโครงสร้างเช่นกัน เพื่อไม่ให้น้ำหนักของส่วนต่อเติมถ่ายลงเสาอาคารเดิมซึ่งไม่ได้ออกแบบเผื่อการรับน้ำหนักไว้ครับ


 อ้างอิงจาก Stonebase

คะแนน:
ร่วมแสดงความคิดเห็น (Post Comment)