การแก้ไขปัญหาเสาเข็มที่ตอกแล้วหัก อธิบายให้วิศวกรและช่างหน้างาน อ่าน 3,862

......................................................

 

การแก้ไขปัญหาเสาเข็มที่ตอกแล้วหัก อธิบายให้วิศวกรและช่างหน้างาน

งานฐานรากและเสาเข็มต้องทำอย่างระมัดระวังรอบคอบถูกต้อง เพราะเป็นงานที่ต้นทุนในการแก้ไขสูง อีกทั้งหากปล่อยปละละเลยไปจนถึงงานโครงสร้างและงานอื่นๆ แล้วอาคารสิ่งปลูกสร้างเกิดปัญหา ความเสียหายยิ่งใหญ่หลวงมากขึ้น ดังนั้นเมื่อพบเห็นปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับงานฐานรากและเสาเข็มต้องแก้ไขให้ถูกต้องทันที ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับงานฐานรากและเสาเข็มสามารถรวมรวบได้ดังนี้

ตอกเสาเข็มแล้ว “เจอตอ”

เมื่อเราตอกเสาเข็มแล้ว “เจอตอ” นั่นคือตอกเสาเข็มไปแล้วยังไม่ถึงระดับที่กำหนดแต่ปลายเสาเข็มไปชนกับอุปสรรคต่างๆ เช่น ก้อนหินขนาดใหญ่ เศษวัสดุก่อสร้าง การแก้ไขทำได้ดังนี้

1. ถ้าสามารถขุดออกได้ ใช้รถ Back Hoe มาขุดออก
2.ในกรณีไม่สามารถขุดออกได้ให้ลองทดสอบดูว่า ถ้าวางเข็มบนอุปสรรคเหล่านั้นแล้วสามารถรับแรงที่ต้องการได้หรือไม่ โดยต้องมีการทดสอบ เช่น ทดสอบน้ำหนักบรรทุก
3.ทำการตอกแซม

ในกรณีที่ไม่มั่นใจสภาพพื้นที่ก่อสร้างสามารถป้องกันเหตุนี้ได้ด้วยการออกแบบเปลี่ยนจากการก่อสร้างฐานรากที่ใช้เสาเข็มมาใช้ฐานรากแผ่แทน
กรณีมีปัญหาขณะตอกเข็มพบว่าเข็มหักตอกเสาเข็มต่อไปไม่ได้ ต้องออกแบบใหม่และตอกแซม โดยต้องเพิ่มความระมัดระวังในการตอกเสาเข็มให้มากขึ้น

......................................................

ตอกแล้วเจอปัญหาเสาเข็มเยื้องศูนย์

ปัญหาที่อาจเกิดได้กับงานฐานรากและเสาเข็มตอกอีกประการหนึ่งคือ เสาเข็มเกิดการเยื้องศูนย์เกินกว่าที่กำหนด เมื่อเกิดขึ้นต้องรีบแก้ไขทันที วิธีการแก้ไขได้แก่

1.ปรึกษาวิศวกรประจำโครงการเพื่อตรวจสอบดูว่า มีการเยื้องศูนย์มากน้อยเพียงใดแล้วดูระยะห่างของเข็ม ถ้าห่างน้อยสามารถแก้ไขได้ด้วยการต้องออกแบบฐานรากใหม่ ถ้าห่างมากอาจตอกเข็มเพิ่มอีก แต่ไม่ว่าดำเนินการอย่างไรต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับแบบแปลนและผังเสาเข็มกับโครงสร้างทั้งหมด
2.แก้ไขปรับปรุงแบบเหล็กเสริมในฐานราก เพื่อรับแรงที่เปลี่ยนไป หากต้องเพิ่มเหล็กควรพิจารณาใช้เหล็กชั้นคุณภาพ ที่สูงขึ้น เช่น จากชั้นคุณภาพ SD40 เป็นชั้นคุณภาพ SD50
3.กรณีออกแบบเป็นเสาเข็มฐานรากเดี่ยว สามารถแก้ไขได้การตอกเสาเข็มเพิ่มเป็น 2 ต้น (ถ้าระยะเกิน Kern Area)
4.ในกรณีจำเป็นและไม่มีวิธีการอื่นให้ใช้การทำเข็มเจาะแห้งเสริม

วิธีการป้องกันเสาเข็มเยื้องศูนย์ ก่อนตอกเสาเข็มต้องตรวจสอบตำแหน่งของหมุดหมายเสาเข็มให้ชัดเจนทุกต้น ทุกหลุม การตอกเสาเข็มต้องเช็คศูนย์เข็ม ทำ OFF SET และควบคุมทุกครั้งก่อนการตอก ต้องตั้งดิ่งทั้ง 2 ด้านรักษาระดับฉาก 90 องศาไว้ตลอดเวลาในขณะตอก

.......................................................

ป้องกันปัญหาเสาเข็ม “เขย่ง”

คนเราหรือสัตว์สองเท้าสี่เท้าโดยทั่วไป ขาทั้งสองหรือทั้งสี่ต้องสั้นยาวเสมอกัน มีความสมดุล ถึงสามารถรองรับน้ำหนักได้ดี ไม่มีอาการเขย่งเขยก เสาเข็มของอาคารสิ่งปลูกสร้างก็เช่นกันต้องใหญ่ยาวเท่ากัน หากตรวจพบว่าเสาเข็มที่สั่งมาตอกมีความยาวไม่พอกับระดับก้นฐานรากที่ออกแบบไว้สามารถแก้ไขปัญหาได้ เช่น

1.หล่อตอม่อขึ้นมาจนถึงระดับก้นฐานราก
2.หล่อ pile cap ของเสาเข็มขึ้นมาจนได้ระดับก้นฐานราก
3.สั่งเสาเข็มงวดใหม่ให้ยาวกว่าเดิม ในกรณีที่ระดับหัวเข็มลึกเกินไป ไม่คุ้มกับการที่จะขุดตามลงไป ให้ตอกเข็มแซมจากนั้นออกแบบฐานรากใหม่

อย่างไรก็ตามต้องเน้นวิธีการป้องกัน นั่นคือตรวจสอบผลการเจาะสำรวจ ก่อนการสั่งเข็มมาตอกเพื่อให้ได้เสาเข็มที่มีความยาวเพียงพอกับระดับดินดาลที่มีความลึกไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่

ในกรณีที่หยุดตอกเข็มเป็นเวลานาน เข็มที่ตอกยังไม่เสร็จ ไม่สามารถ Blow out ได้ ก่อนทำงานต่อต้องตรวจสอบสภาพให้ดี เช่น นำปั้นจั่นตัวใหม่มาทำงานต่อ ต้องตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมก่อนเริ่มงานใหม่ อีกทั้งต้องตอกแซมเพิ่มจำนวนเข็มที่ตอกไปแล้วแม้ครบจำนวนก็ตาม การวินิจฉัยต้องปรึกษาวิศวกรโครงสร้าง

ท้ายสุดในการตอกเสาเข็มอาจเกิดปัญหาได้ตลอดเวลา วิศวกรควบคุมควรดูแลอย่างใกล้ชิด และบ่อยครั้งต้องแก้ปัญหาในที่ ก่อสร้าง เพื่อให้ฐานรากมีประสิทธิภาพในการรับน้ำหนักไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ตามแบบก่อสร้าง จำเป็นต้องตอกเสาเข็มเพิ่ม ตำแหน่งที่ตอกเสาเข็มต้นใหม่ต้องมีระยะห่างจากเสาเข็มที่หัก และเสาเข็มต้นอื่นๆประมาณ 2.5-3 เท่าของขนาดเสาเข็ม ( S =2.5 – 3D) ลักษณะของปัญหารูปแบบของฐานรากเมื่อได้รับการปรับปรุงแล้วและข้อเสนอในการตอกซ่อมแซมเสาเข็มเรานำมาในรูปแบบดังรูปในโพสนี้

......................................................

ที่มา : หนังสือออกบบฐานราก ผศ.ปิยะ รัตนสุวรรณ
       : หนังสือออกแบบฐานราก ผศ.สมศักดิ์ คำปลิว
       : บทความ ช่างสยาม consmag.com
       : บทความ ใน tumcivil.com

คะแนน:
ร่วมแสดงความคิดเห็น (Post Comment)